เชียงใหม่ซู อควาเรียมเปิดแล้ว อุโมงค์ใต้น้ำยาวที่สุดในโลก
สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องคุ้นหูและคุ้นชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะมีสัตว์จำนวนมากมายที่น่าชมและมีบรรยากาศที่ดี โดยเฉพาะเมื่อมีหมีแพนด้า ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย จากประเทศจีนมาอยู่ภายในสวนสัตว์ก็ยิ่งมี นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมกันเป็นจำนวนมาก กระทั่งเกิดไอเดียที่จะเนรมิตสวนสัตว์เชียงใหม่ให้มีความน่าเที่ยวมากขึ้น และยกบรรดาสัตว์น้ำนานาชนิดจากแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็มมาไว้บนดอย เพื่อเป็นศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวได้เข้าชม นั่นจึงเป็นที่มา ของอควาเรียมที่มีทางเดินยาวที่สุดในโลกแห่งนี้
โครงการเชียงใหม่ ซู อควาเรียม หรือส่วนแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ยาวที่สุดในโลกแห่งนี้ เปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ วันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา
โดยมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดแต่เกิดเหตุ ขัดข้องเพราะระบบกรองน้ำเกิดเสียขึ้นมาทำให้น้ำ ในอุโมงค์ขุ่นไม่ใสทางสวนสัตว์เชียงใหม่จึงปิดเพื่อปรับปรุง จนกระทั่งน้ำใสสามารถมองเห็นตัวปลาได้อย่างชัดเจน จึงเปิดให้เข้าชมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา สำหรับความ ยาวที่น่าทึ่งคือมีความยาวมากที่สุดในโลกถึง 133 เมตร เป็นทางลอดที่ชมพันธุ์ปลาหายากทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยมีพันธุ์ปลาที่จะทำการปล่อยครั้งนี้ 8,000 ตัว จาก 250 สายพันธุ์ และมีการแบ่งตัวอาคารออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งชั้นล่างจะเป็นอควาเรียม ส่วน ด้านบนก็จะเป็นการจัดแสดงตู้ปลาทั้งหมด 36 ตู้ ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่หายากทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปลาพิเศษหายากในลุ่มน้ำอะเมซอน และปลาแม่น้ำโขง
ซึ่งอาคารแห่งนี้จึงถือเป็นตัวแทนของการท่องเที่ยวที่รวมทุกอย่างทั้งในท้องทะเล และในแหล่งน้ำจืดไว้ด้วยกัน
ซึ่งการจัดสถานที่ทั้งหมดนั้นเป็นการจำลองธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีการเรียงลำดับจากต้นน้ำบนยอดดอยลงไปสู่ทะเล และการจำลองการบอกเล่าเรื่องราวของวิถีแห่งสายน้ำให้มีสภาพเหมือนป่าบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นแหล่ง ต้นน้ำ ธารน้ำธรรมชาติ รวมกันเกิดเป็นน้ำตก ไหลรวมกันเกิดเป็นแหล่งน้ำลำธารตามหุบ เขาลงสู่แม่น้ำสายต่าง ๆ ออกสู่ปากอ่าวเกิดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน แล้วไหลลงสู่ทะเล เป็นการจำลองสภาพของบรรยากาศแม่น้ำโขง และใต้ท้องทะเล ให้ได้ชมผ่านอุโมงค์ที่สร้างไว้ โดย มีทางเดินไปยังส่วนต่าง ๆ ของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งแต่ละส่วนจัดแสดงตามลักษณะของพื้นที่และสภาพภูมิศาสตร์ โดยคำนึงถึงความสามารถในการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดต่าง ๆ อย่างเหมาะสมที่สุด