สธ.วิจัยพบยีนยุงลายดื้อยา ยุงปากน้ำโพครองแชมป์ยอดดื้อ ร้อยละ 73.3 ทำยาฆ่ายุงใช้ไม่ได้ผล เสี่ยงโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก
อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยเทียบกับปีก่อน พบผู้ป่วยแล้วมากกว่า 2 เท่า ขณะที่ แพทย์ศิริราชเผยแมลงวันเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน เตือนระวังโรคระบาดหลังสงครามกลับมาระบาดใหม่ ทั้งไข้เลือดออกและอหิวาต์ พบวัณโรคดื้อยาภาคอีสานสูงถึงร้อยละ 3 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน มีการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 16 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นางอุรุญากร จันทร์แสง และคณะจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออก ด้านความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดแมลง พบว่า จากการเก็บตัวอย่างยุงลายจากจังหวัดที่มีการรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และนครสวรรค์
จากการตรวจสอบพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงระดับยีนที่ทำให้ยุงลายเกิดความต้านทานต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทรอยด์
ด้วยวิธี PCR-RFLP พบว่า ยุงลายจาก จ.นนทบุรี มีอัตราการดื้อสารเคมี 27% ยุงลายฉะเชิงเทรามีอัตราการดื้อ 58.5% ชลบุรี 59% จันทบุรี 30% ราชบุรี 60% กระบี่ 26% สุราษฎร์ธานี 36% ตาก 30% สุโขทัย 16.7% กำแพงเพชร 50% และนครสวรรค์ 73.3% ผลการศึกษายังพบด้วยว่า การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวยังพบกลุ่มของยุงลายรุ่นต่อๆ ไปที่เป็นยุงลายดื้อยาได้ เนื่องจากพบยีนดื้อแฝงอยู่ในยุงลายกลุ่มนั้น ผลการศึกษาในครั้งนี้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพต่อไป
"ยุงลายที่ดื้อยาสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้ยุงในรุ่นลูกดื้อยาได้ ทางแก้ควรจะใช้จุลินทรีย์แก้ไขหรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง" นางอุรุญากร กล่าว
ดร.สุธี ยกสร้าง โครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
ยุงพัฒนาตัวเองจนสามารถต้านทานยาฆ่าแมลงได้เหมือนคนที่ดื้อยา เรียกว่าขณะนี้วิธีการฉีดสเปรย์พ่นยุงใช้ไม่ได้ผลแล้ว จะต้องหาแนวทางใหม่ในการกำจัดยุง อย่างไรก็ตามการปรับตัวของพันธุกรรมยุงเป็นไปในทิศทางการต้านทานยาฆ่าแมลงเท่านั้น แต่ไม่ได้ปรับตัวในการนำเชื้อโรคที่รุนแรงขึ้น "ยุงไม่ได้ปรับพันธุกรรมในการนำเชื้อโรคที่รุนแรงขึ้น แต่เป็นพาหะของโรคเช่นเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือยาฆ่าแมลงไม่สามารถปราบยุงได้ หรือหากปราบได้ผลก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น จึงจะต้องหาวิธีการกำจัดแบบอื่น" ดร.สุธี กล่าว
ทั้งนี้ การดื้อยาของยุงลายอาจทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น
ดร.สุธี ยอมรับว่า เป็นไปได้ว่าจำนวนยุงที่เพิ่มขึ้น เพราะยาฆ่าแมลงปราบไม่ได้จะส่งผลให้มีพาหะนำโรคเพิ่มขึ้น และโรคไข้เลือดออกอาจจะเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นของเชื้อโรคขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งจำนวนยุง โลกร้อน และพฤติกรรมของมนุษย์เอง ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีมานานเกี่ยวกับการดื้อต่อสารเคมียาฆ่าแมลงของยุง เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันป้องกัน โดยประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องให้ความรู้เกี่ยวกับการพ่นสารเคมียาฆ่าแมลงในพื้นที่ หากมีการใช้สารเคมีตัวเดิมพ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-10 ปี จะทำให้ยุงเหล่านี้ดื้อต่อสารเคมีได้ ที่ผ่านมาทางกรมได้ให้ความรู้ว่า จะต้องเปลี่ยนสารเคมีในการฉีดพ่น ไม่ว่าจะเป็นยุงหรือแมลงชนิดอื่นๆ ทุก 2 ปี เพื่อไม่ให้แมลงทนต่อสารเคมีเหล่านั้น โดยได้ออกเป็นแนวทางปฏิบัติ ส่วนพื้นที่ใดจะทำตามหรือไม่นั้น กรมไม่สามารถเข้าไปบังคับได้