DSI ลั่นยังไม่ได้รับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ แต่ปักธงสืบสวนเรื่องนี้จริง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ DSI ลั่นยังไม่ได้รับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ แต่ปักธงสืบสวนเรื่องนี้จริง
จากกรณีที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค ชื่อ "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" สรุปใจความได้ว่า "กรมสอบสวนคดีพิเศษ อนุมัติให้ทำการสืบสวนคดีน้องแตงโมแล้ว" นั้น
ล่าสุด วันที่ 22 ม.ค. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันว่า
ตนได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 22 ม.ค. โดยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร?
จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เนื่องด้วยผู้ร้องขอให้สืบสวนสอบสวนและขอให้รับเป็นคดีพิเศษ "โดยผู้ร้องเห็นว่า" กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัย มีเหตุให้เชื่อได้ว่าอาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลง
ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนดังกล่าว
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า การอนุมัติเรื่องสืบสวนดังกล่าว ยังไม่ได้เป็นการรับไว้เพื่อเป็นคดีพิเศษแต่อย่างใด เพียงมอบหมายให้ทีมของ พ.ต.ต.ณฐพล ได้ไปแสวงหาพยานหลักฐาน ข้อมูล สืบสวนสอบสวน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงทุกประการ ตามที่มีผู้ร้องขอให้มีการดำเนินคดีต่อบุคคล และต้องเป็นการสืบสวนเพื่อหาผู้กระทำความผิดรายอื่นที่มิใช่บุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการสืบสวนดังกล่าว เจ้าพนักงานมีกรอบเวลาถึง 6 เดือน แต่อาจจะเร็วกว่านั้นก็เป็นได้ ถ้าหาหลักฐานได้มากเพียงพอ ทั้งนี้ หากพยานหลักฐานที่ได้มาจากการสืบสวนคดีพิเศษ สามารถบ่งชี้ว่ามีการกระทำความผิดในทางอาญา และเข้าลักษณะการเป็นคดีพิเศษ ก็จะต้องมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)
เพื่อขอมติในที่ประชุมในการรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษ แต่ต้องขอเน้นย้ำว่า หากพยานหลักฐานและการกระทำความผิดนั้นเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ ดีเอสไอจะต้องส่งสำนวนให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแทน