อ.เจษฎา ตอบแล้ว ถ้าเกิดพายุที่ไต้หวัน จะเข้ามาไทย จริงไหม?
วันนี้ (26 ก.ย. 67) ทางด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เผยข้อมูลความรู้ พร้อมโต้ข่าวลือ บอกว่า "พายุที่ไต้หวัน (ถ้าเกิดจริง) ไม่ได้จะมุ่งหน้ามาไทยครับ"
วันนี้ มีการเสนอข่าวคำทำนายพายุ จากเพจของผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง อ้างว่า "อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ถล่มไต้หวันแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรุนแรงมาก แรงกว่าพายุยางิถึง 2 เท่า"
"พายุที่จะก่อตัวขึ้นในไต้หวันในอีก 5 วันข้างหน้า ดูดเอามวลลมทั้งหมดในเขตทะเลจีนใต้ได้แบบง่ายดาย จึงมีขนาดใหญ่และมีกำลังมาก .. หากพายุลูกนี้เคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน จะก่อหายนะที่รุนแรงมาก" !?
และบอกด้วยว่า "พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนามและเข้าประเทศไทย ทางฝั่งภาคเหนือตอนบนอย่างแน่นอน กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่าเลยทีเดียว" !?
ในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้ ยังไม่มีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวที่บริเวณเกาะไต้หวัน แต่มีกลุ่มหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อนได้ครับ
โดยหน่วยงาน TyTech Taiwan ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก (ดูลิงค์ด้านล่าง) ว่าเมื่อ 8 โมงเช้าวันพุธที่ 25 กันยายน พายุดีเปรสชั่นในน่านน้ำทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเกียวชู ประเทศญี่ปุ่น ได้ทวีกำลังแรงขึ้นกลายเป็นพายุโซนร้อน ชื่อพายุ ซีมารอน Cimaron (ภาษาตากาล็อก แปลว่า สัตว์ป่าดุร้าย คุมไม่อยู่) ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่เกาะญี่ปุ่น และส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงนี้ (ดูรูปประกอบ)
. ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าพายุโซนร้อนลูกนี้ เกิดขึ้นจริง (ยังไม่มีคำทำนายว่าจะพัฒนาขึ้นไปถึงระดับพายุไต้ฝุ่น) ก็จะอยู่บริเวณเกาะไต้หวัน ไม่ใช่มุ่งมาทางมาประเทศไทยครับ
- ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบน เวียดนามตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนบน
- ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
- ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
- ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
ป.ล. เพิ่มเติมว่า "เตาปฏิกรณ์ดวงอาทิตย์เทียม" ของประเทศจีน นั้น มันก็คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น ที่ยังศึกษาวิจัยกันอยู่ทั่วโลก ยังอีกนานมากกว่าจะใช้ผลิตไฟฟ้าได้จริง และก็ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก แต่อย่างไรครับ .. ไม่รู้เค้าไปเอาแนวคิดนี้มาจากไหน