ผู้ตรวจฯ ตีตกดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ ไม่อยู่อำนาจ


ผู้ตรวจฯ ตีตกดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ ไม่อยู่อำนาจ


ผู้ตรวจฯ มีมติ ตีตกปมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ไม่อยู่ในหน้าที่ส่งศาลรธน.- ศาลปกครองวินิจฉัย ระบุ การกำหนดเป็นนโยบาย -แถลงต่อสภา เป็นการใช้อำนาจบริหารตามรธน.กำหนด และยังไม่พบจะมีการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติไม่ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีมีผู้ยื่นเรื่องขอให้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่รัฐบาล และคณะรัฐมนตรี กำหนดนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และตราพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรับ 2561 หรือไม่

เนื่องจากเห็นว่า การกำหนดนโยบาย และการแถลงนโยบายของรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจทางการบริหาร ของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศในฐานะองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจึง ไม่ใช่การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รวมถึงที่ร้องเรียนไม่ใช่การร้องว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือร้องเรียนว่าเป็นการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 37 (3) ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ตามมาตรา 23 (1) และมาตรา 23 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 (เทียบเคียงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 52/2566)

ส่วนกรณีรัฐบาลจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 67 ในฐานะประธานกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ว่า จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ,2568 ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงิน 3 ส่วน คือ1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษของงบประมาณปี 2568 และ 3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการดังกล่าวโดยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม และไม่มีประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรา 22 (2) และมาตรา 23 พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์