ประเดิมรายแรก! หนุ่มติดกำไล EM มีข้อสั่งห้ามในเรื่องนี้?
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ได้เสนอรายงานและความเห็นต่อพนักงานอัยการจังหวัดลำพูนใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดรายหนึ่งที่ครบกำหนดพ้นโทษออกจากเรือนจำจังหวัดลำพูน ในวันที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หลังพบประวัติเคยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและกระทำความผิดฐานอื่น
ล่าสุด ศาลจังหวัดลำพูนจึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดรายดังกล่าวภายหลังพ้นโทษให้อยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ และกำหนดมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย
1. ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายและครอบครัวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันปล่อยตัว
2. ห้ามออกนอกประเทศเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันได้รับการปล่อยตัว
3. ห้ามก่ออันตรายในละแวกชุมชนที่พักอาศัย
4. เมื่อได้รับการปล่อยตัวให้พักอาศัยที่บ้านเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันได้รับการปล่อยตัว
5. รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ตามวันและเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด
6. ให้มาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือแพทย์ที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 1 ปี โดยให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลหรือแพทย์อนุญาตให้เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ และให้รายงานผลการรักษาทางการแพทย์ต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างต่อเนื่อง
7. แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นโทษ และ
8. ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพื่อติดตามพฤติกรรม
โดยพนักงานคุมประพฤติได้กำหนดรัศมีในการห้ามเข้าใกล้บ้านของผู้เสียหายในรัศมี 1 กิโลเมตร หากผู้พ้นโทษเข้าไปในระยะดังกล่าวกำไล EM จะสั่นเตือนให้เจ้าตัวทราบ อีกทั้งแจ้งเตือนไปยังศูนย์JSOC และพนักงานคุมประพฤติในพื้นที่ให้ทราบโดยทันที ซึ่งสามารถประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายช่วยกันป้องกันเหตุให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม นอกจากนี้ พนักงานคุมประพฤติ จะต้องทำรายงานการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเสนอศาลทุก 6 เดือนต่อไป