เปิดใจ ‘น.ศ.ไทย’ อาสาทดลองวัคซีนไฟเซอร์ ในอเมริกา (คลิป)
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ได้เดินหน้าฉีดอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิดในระดับต้นๆ ของโลก โดยสหรัฐฯ ใช้วัคซีน 2 ยี่ห้อคือ ไฟเซอร์กับโมเดอร์นา
ซึ่งหนึ่งในคนไทยที่ได้รับการฉีดยี่ห้อโมเดอร์นาในสหรัฐฯ ก็คือ ดอน ธีระธาดา ดาราไทยและสตันแมนในวงการฮอลลีวูด ที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา
อย่างไรก็ตามก่อนที่ไฟเซอร์ จะได้รับการใช้อย่างเป็นทางการในสหรัฐฯ นั้น ได้มีการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครไปแล้วจำนวนมากถึง 3 เฟส ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ละเฟสใช้กลุ่มอาสาสมัครกว่า 30,000 คน
โดยโอม จะเปิดใจว่าทำไมถึงร่วมอาสาสมัครทดลองวัคซีนไฟเซอร์ กระบวนการทดลองเป็นอย่างไรบ้าง และหลังการรับวัคซีนไปแล้วเป็นอย่างไร และที่สำคัญปัจจุบันโอมเป็นอย่างไรบ้าง
ผมเห็นข่าวว่าโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ประจำ ประกาศรับอาสาสมัคร ผมจึงส่งอีเมลไปหาคุณหมอที่รักษาผม เรียกว่า แฟมิลี่ ด็อกเตอร์ ขอข้อมูลจากคุณหมอ ตัดสินใจสมัคร จากนั้นผมก็ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการ เริ่มฉีดเข็มแรกกลางเดือนกันยายน 2563 เข็มที่ 2 เดือน ตุลาคม 2563
กลุ่มอาสาสมัคร ทางโรงพยาบาลเลือกจากคนไข้ เป็นเมมเบอร์ของโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ผมเข้ารักษา ชื่อ ไคเซอร์ ตอนที่โรงพยาบาลเลือกอาสาสมัคร ไม่ได้บอกข้อมูลเจาะจงว่าต้องป่วยเป็นโรคอะไร ระดับไหน แต่ก่อนฉีด เขาดูประวัติผม ซึ่งผมเป็นหลายโรค ทั้งความดัน เบาหวาน และไขมัน คงเห็นว่าผมมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ซึ่งอาสาสมัครรอบของผม มีประมาณ 3 หมื่นกว่าคน เป็นการทดลองของอเมริกาเฟส 3
-อาการข้างเคียงหลังฉีดเป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับอาการหลังฉีดวัคซีน ผมมีอาการปวดแขน เหมือนอาการหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปวดประมาณ 2-3 วัน ไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ การทดลองอาสาสมัครกว่า 3 หมื่นคน ผมเพิ่งมารู้ประมาณปลายเดือนธันวาคมว่ารูปแบบการทดลองจะต้องมีกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง กับบางส่วนได้ฉีดน้ำเปล่า เพื่อดูปฏิกิริยาทางความคิด ถ้าคิดว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ร่างกายจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแค่น้ำเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยา และในการฉีดเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกเราว่าวัคซีนที่ได้รับการฉีด เป็นวัคซีนแท้ หรือแค่น้ำเปล่า
ในส่วนของผมก็ไม่รู้ จนกระทั่งผมไปตรวจเลือดมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ผลตรวจออกมาเป็น บวก ตอนแรกตกใจนึกว่าติดโควิด แต่ทางเจ้าหน้าชี้แจงว่าที่บวก เพราะมีแอนตี้บอดี้แล้ว
ถือเป็นความสำเร็จในระยะขั้นต้น เพราะโครงการนี้มีระยะเวลาทดลอง 2 ปี หลังจากนี้ผมยังต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ครบ 6 ครั้ง เพื่อติดตามผล
ตอนนี้ติดต่อเจ้าหน้าที่แล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 และ 2 เป็นการฉีดวัคซีน ครั้งที่ 3 เป็นการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน และครั้งที่ 4 เดือนมีนาคม 2564 จะเจาะเลือดเหมือนกัน ส่วนครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 จะเจาะเลือดเพื่อติดตามผลในช่วง 2 ปี ครบช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมใช้ชีวิตลำบาก ผมเรียนที่นี่ การออกไปข้างนอก ทำกิจกรรมต่างๆ ลำบาก ถ้าผมต้องกักตัวอยู่ในบ้านตลอด 365 วันก็ไม่ใช่
หมายความว่าวัคซีนที่ฉีด คงไม่มีอะไรมาก อีกอย่างผมก็เชื่อมั่นในมาตรฐานว่าดีพอสมควร จึงไม่ได้กลัวอะไร ที่สำคัญผมเองเป็นโรคอยู่แล้ว ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ทดลองเลยดีกว่า
-คนไทยร่วมทดลองฉีดที่นั่นเยอะหรือไม่
ผมไม่รู้ครับ ส่วนคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ยังไม่มีใครเข้ารับการฉีด ส่วนตัวผมเองที่ผ่านมา ไม่กล้าบอกใคร กลัวหาว่าผมบ้า(หัวเราะ)
-การรักษาโควิดในอเมริกาเทียบกับไทย
ผมคิดว่าเมืองไทยดูแลผู้ป่วยดี อย่างที่อเมริกาเวลาป่วย ถ้าอาการไม่หนักมาก ไม่โคม่า จะให้รักษาตัว กินยาอยู่ที่บ้าน แค่โทร.หาแล้วให้กินยาตามอาการ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แนวทางนี้อาจทำให้แพร่เชื้อง่ายกว่าไทย เพราะไทยเมื่อรู้ว่าติดโควิด จะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเลย
-สาเหตุการติดเชื้อโควิดในอเมริกา
รูปแบบการใช้ชีวิต ทำให้ติดเชื้อง่าย อยู่กับรูมเมท อพาร์ทเม้นท์ บ้าน 1 หลังอยู่มากกว่า 1 ครอบครัว อาจติดจากที่ทำงาน ต่างกับไทยที่อยู่เป็นครอบครัว การป้องกันง่ายกว่า ส่วนสถานการณ์ล่าสุดของไทยที่ติดจากแรงงานผิดกฎหมาย บ่อน เรื่องนี้ต้องไปแก้ที่สาเหตุ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อถ้ารู้คงระวังตัวไม่ออกไปแพร่เชื้อให้ใคร