“ซีพี” ตอบทุกประเด็น ปมซื้อหุ้นซิโนแวค หนุนการผลิตวัคซีนโควิด
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ “ซีพี” ตอบทุกประเด็น ปมซื้อหุ้นซิโนแวค หนุนการผลิตวัคซีนโควิด
เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ "ซีพี" ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีบริษัทในเครือเข้าถือหุ้น 15.03% ใน บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ (Sinovac Life Sciences) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 สัญชาติจีน ว่า เป็นเรื่องจริง เนื่องจากบริษัทพิจารณาว่า ในช่วงเวลายากลำบากนี้ "วัคซีน" เป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างมาก และเป็นการแข่งกับเวลา ทำให้ทุกประเทศในโลกต้องเร่งผลิตวัคซีนให้ได้มากที่สุด
ทางซีพีเองได้ดำเนินธุรกิจด้านเวชภัณฑ์มากว่า 20 ปีในประเทศจีน จึงขยับตัวได้อย่างรวดเร็วและมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ ผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีชื่อว่า "โคโรนาแวค" (CoronaVac) ซึ่งการซื้อหุ้นครั้งนี้ แล้วเสร็จลุล่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ในจำนวนเงิน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,427.85 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเข้าไปถือหุ้น 15.03% ในบริษัทดังกล่าว ซึ่งวิธีนี้จะทำให้บริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น
นอกจากซีพีแล้ว ยังมีกองทุนของจีน คือ "แอดวานซ์เทค แคปิตอล" และกองทุนของสหรัฐ" วีโว่ แคปิตอล" ที่ได้ร่วมลงทุนกับทางซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ โดยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทละ 6.3%
ทั้งนี้ ซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ มีศักยภาพในการผลิตวัคซีน 300 ล้านโดสต่อปีในปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านโดสต่อปีในปีนี้ (2564)
นอกจากประเทศจีนแล้ว วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค ยังเป็นวัคซีนที่นำมาฉีดให้กับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล และชิลี เป็นต้น
การระดมทุนเพิ่มในครั้งนี้ ซิโนแวคระบุว่า จากเดิมสามารถผลิตวัคซีนได้ปีละ 300 ล้านโดส หากสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ได้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้ปีละ 600 ล้านโดส ก็จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชากรโลก โดยปัจจุบัน โคโรนาแวคเป็นวัคซีนทดลอง 1 ใน 3 ตัวของจีนที่มีการฉีดให้ประชาชนราว 1 ล้านคนแล้วตามโครงการเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการเชื่อมโยงไปยังประเด็นการเมืองว่า ภาครัฐสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส จะมีความเชื่อมโยงกับการลงทุนของกลุ่มซีพีในบริษัทซิโนแวคหรือไม่นั้น ซีพีระบุว่า หากดูจากยอดการผลิต 600 ล้านโดสต่อปีเพื่อกระจายวัคซีนไปทั่วโลก กับยอดการสั่งซื้อ 2 ล้านโดสของประเทศไทย เทียบได้กับ 0.33% ของกำลังการผลิต นั่นจึงคงไม่ใช่เหตุผลที่ซีพีเข้าไปลงทุนในครั้งนี้
จึงเป็นภารกิจของทุกประเทศในโลก ในการขยายการผลิต การสร้างโอกาสในการเข้าถึงยาและวัคซีน และถือเป็นเรื่องของสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย เพื่อตอบเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วยในด้านสุขภาพ (Health & Well Being)
นอกจากนี้ ยังระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยคาดการณ์ว่า วัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ชุดแรก 200,000 โดส จะขนส่งมาถึงไทยช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และชุดที่สอง 800,000 โดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม จากนั้นอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับการสั่งจองซื้อวัคซีน จำนวน 61 ล้านโดสจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (Astra Zeneca) ที่คาดว่าล็อตแรกจะนำเข้ามาเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประมาณกลางปี 2564 จำนวน 26 ล้านโดส
บวกกับอีก 35 ล้านโดสที่ทางครม.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ให้มีการจัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองคนไทยได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่ารวมแล้วไทยจะมีวัคซีนจากประเทศอังกฤษ 61 ล้านโดสให้ประชาชน และมีวัคซีนที่จองซื้อจากซิโนแวคจากประเทศจีนเพียงแค่ 2 ล้านโดสเท่านั้น
สำหรับสาเหตุที่เลือกสองรายนี้เพราะวัคซีน สามารถเก็บได้ในตู้เย็นมาตรฐานที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน ทำให้ง่ายต่อการขนส่งและกระจายวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ การซื้อวัคซีน ประเทศไทยต้องไปต่อคิว เพราะทั่วโลกขาดแคลน ดังนั้น การจองซื้อล่วงหน้า ถือเป็นเรื่องของความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน
บนเส้นทางธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพีกว่า 20 ปี อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างในประเทศไทย เพราะเมื่อพูดถึงกลุ่มซีพี อาจทำให้นึกนึกกลุ่มธุรกิจเกษตร หรือไม่ก็เซเว่น อีเลฟเว่น แต่ข้อเท็จจริงเครือซีพี ได้ถือว่าเป็นบริษัทไทยที่ก้าวสู่การเป็นบริษัทระดับโลกไปแล้วโดยรายได้มากกว่าครึ่งก็มาจากตลาดต่างประเทศ ที่ผ่านมาซีพี กรุ๊ป มีการลงทุนใน 22 ประเทศทั่วโลก บริษัทในเครือทำธุรกิจครอบคลุมหลากหลายสาขา แบ่งเป็น 8 กลุ่มธุรกิจ แต่ที่คนไทยคุ้นเคยคือ 3 ธุรกิจเสาหลัก ได้แก่
*ซีพี ฟู้ดส์ ดูแลธุรกิจด้านอาหารครอบคลุมธุรกิจเกษตร ธุรกิจฟาร์มเลี้ยง ไปจนถึงอาหารแปรรูปพร้อมบริโภค
*ซีพีออลล์ ดูแลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11
*และทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของไทย
*ซีพีออลล์ ดูแลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11
*และทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของไทย
นอกจากนี้ กลุ่มซีพียังมีธุรกิจอื่น ๆ ในต่างประเทศอีกมากมาย อาทิ กลุ่มเวชภัณฑ์ ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจของซิโนไบโอฟาร์มาฯ นั้น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 หรือประมาณ 22 ปีมาแล้ว และติดอันดับท็อป 50 บริษัทในธุรกิจยาของโลกที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Pharm Exe ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2019 นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ ให้เป็นสุดยอด 100 บริษัทในเอเซียอีกด้วย
ดังนั้น การเข้าสู่ธุรกิจเวชภัณฑ์ของกลุ่มซีพีจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะดำเนินการมาแล้วกว่า 22 ปี โดยทำการผลิต และทำการตลาดยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและสมองในประเทศจีน ทั้งนี้บริษัท ซิโนไบโอฟาร์มาฯ ทำรายได้ในปี 2019 สูงถึง 4200 ล้านหยวน หรือ 112,000 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทซิโนแวค ก็ถือเป็นการลงทุนปกติของกลุ่มซิโนไบโอฟาร์มา ที่ดำเนินการเป็นประจำในอุตสาหกรรมยา โดยบริษัทเน้นการลงทุนในบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีทั่วโลก และถือว่าการลงทุน 515 ล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ได้สองเท่า
ซีพีย้ำว่า การลงทุนครั้งนี้ทำให้ซิโน ไบโอฟาร์มาซูติคอล มีหุ้นส่วนน้อย เพียง 15.03% ในซิโนแวค ไลฟ์ ไซเอนส์ และดีลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ซิโนแวคขยายข้อตกลงจัดหาวัคซีนโคโรนาแวค และทดลองกับหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลการทดลองทางคลินิกเฟส 2 เป็นไปด้วยดี ทำให้การลงทุนเป็นไปตามเวลาที่เหมาะสม
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น