ทำความเข้าใจ มาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุด คืออะไร ย้ำไม่ใช่ล็อกดาวน์
ร่างมาตรการที่ใช้ประกอบการประกาศ พื้นที่ควบคุมสูงสุด ใน 28 จังหวัด เตรียมเสนอนายกฯลงนามประกาศเร็วๆ นี้ เบื้องต้นปรับ 8 ข้อ ย้ำประชาชน ผู้ประกอบการ ปฎิบัติตาม ยืนยันไม่ล็อกดาวน์ เหตุส่งผลกระทบหลายด้าน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการที่ใช้ประกอบการประกาศ พื้นที่ควบคุมสูงสุด ใน 28 จังหวัด ว่าขณะนี้ในศบค.ชุดเล็กได้มีการประชุมทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อปรับผ่อนเกณฑ์ให้เหมาะสม โดยจะเสนอศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและลงนามในประกาศดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นโดยมีประมาณ 8 ข้อดังนี้
1.การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือ ห้ามใช้อาคารและสถานที่ของโรงเรียน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เน้นย้ำว่าขอใช้ในพื้นที่สีแดงหรือใน 28 จังหวัด ที่มีการติดเชื้อสูงสุดหรือพื้นที่ใกล้เคียง
2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น การประชุมสัมนา จัดเลี้ยง การแต่งงาน เว้นแต่เป็นการดำเนินงานจากเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัด โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามความรับผิดชอบ
3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด
4.ในส่วนของร้านอาหารนั้น ได้มีการปรับผ่อนเกณฑ์ จากเดิมอนุญาตให้ขายเฉพาะนำกลับบ้านเท่านั้น เป็นให้สามารถจำหน่ายอาหารได้ตามปกติ แต่ต้องมีการจัดระเบียบ จำนวนคนในร้าน โดยอาจให้เป็นลักษณะนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในแต่ละจังหวัดพิจารณา
5.คำสั่งปิดหรือเปิดสถานที่ต่างๆมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถดำเนินการได้
6.เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ยังไม่ข้ามแต่ต้องมกีารตรวจและคัดกรองการเดินทาง โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมต้องดำเนินการตามมาตรกรศบค.กำหนด พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และไม่ก่อความเดือนร้อนแก่ประชาชน ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่
7.การทำงานที่บ้าน หรือสลับเวลาการทำงาน
8.ให้ดำเนินการเฉพาะกิจ พิจารณาผ่อนคลายเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ผ่อนคลาย หรือยับยั่งในพื้นที่ควบคุม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการต่างๆ นั้น การใช้ยาแรงอาจทำให้สูญเสียด้านอื่นๆ และนี่เป็นเหตุผลที่ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ทางศบค.ประกาศล็อกดาวน์ หมายถึงคำสั่งที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ หารายได้ของประชาชน แต่ทั้งนี้ ศบค.ได้มีมาตรการเยียวยาประชาชน ซึ่งการใช้มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายต้องเสีย ต้องเป็นภาพที่ทำให้ทุกคนต้องลำบากกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกคนล้วนอยากทำมาหากิน จึงขอความร่วมมือให้ทำมาหากินแบบวิถีชีวิตใหม่ ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขการให้งดเที่ยวบินไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ลดโรคได้ งดการขายอาหารแล้วจะลดโรคได้ก็ไม่ใช่ เพราะการแพร่ระบาดของโรคมาจากหลายปัจจัย หากจังหวัดที่ควบคุมโรคได้ดี ยกตัวอย่าง นครปฐม เมื่อพบระบาดก็มีการสอบสวนโรควงแรก มีคนติดหลักสิบคนและรีบสอบสวนโรค ทำให้พบผู้สัมผัสวงที่สอง และนำไปสู่วงที่สาม ภายในเวลาไม่เท่าไหร่ก็ลดการติดต่อโรคไปหลายขั้นได้ ดังนั้น แต่ละจังหวัดมีภาพแตกต่างกัน การที่ศบค.ไม่ใช้ยาแรงอย่างเดียวในการจัดการประเทศ เพราะคนที่เจ็บปวดและเดือนร้อนที่สุด คือประชาชนปกติที่ต้องจำกัดเวลา จำกัดพื้นที่ ไม่อยากให้คนปกติ สุจริตชนทั้งหลายต้องเดือดร้อนมากกว่านี้... นพ.ทวีศิลป์กล่าว