“ธุรกิจแลกเงิน” ตายเกลื่อน ซุปเปอร์ริชสีส้มปิด 30 สาขา


“ธุรกิจแลกเงิน” ตายเกลื่อน ซุปเปอร์ริชสีส้มปิด 30 สาขา

ธุรกิจแลกเงินทรุดหนัก เจอผลกระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย อุปนายกสมาคมฯ "รายใหญ่สาหัส-รายเล็กตายเกลื่อน" เผยผู้ประกอบการล้มหายไปราว 70% "ซุปเปอร์ริชสีส้ม" เผยธุรกรรมเหลือไม่ถึง 5% ทยอยปิดสาขากว่า 30 แห่ง ลดค่าใช้จ่าย-ลดคนประคองตัว ลุ้นกลางปี"64 ยอดธุรกรรมเริ่มฟื้น

ร้านแลกเงินปิดตาย 70%
นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ อุปนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) และประธานกรรมการบริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดโควิด-19 เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางระหว่างประเทศเกิดขึ้น ทำให้ธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหายไปค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ จากปัจจุบันที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตรวมกว่า 2,000 ราย คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหายไปจากระบบมากกว่า 70% โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ เนื่องจากแบกรับภาระต้นทุนในการบริหารจัดการไม่ไหว เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ยอมรับว่าครั้งนี้รายใหญ่ก็บาดเจ็บสาหัส เพราะมีต้นทุนพนักงานและสาขาจำนวนมาก และไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์จะลากยาว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการฟื้นตัวประมาณกลางปี 2564

"รายใหญ่ไม่เคยคิดว่าจะเจอวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายหนักมาก ส่วนรายเล็กเดือดร้อนหนัก ล้มหายตายจากไปเยอะ อย่างที่เชียงใหม่ และจังหวัดท่องเที่ยวปิดกิจการล้มระเนระนาดไปเยอะ ซึ่งตอนนี้ในสมาชิกสมาคมก็ล้มหายไปเหลือไม่ถึง 100 บริษัท จากสมาชิกที่มีมากกว่า 160 บริษัท"

ลดสาขา-ลดคนประคองตัว
นางสาวชนาพรกล่าวว่า สำหรับในส่วนบริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ฯ แม้ว่าจะได้มีการปลดพนักงาน แต่พนักงานจำนวนหนึ่งทยอยขอลาออก ผลจากบริษัทปรับวิธีบริหารจัดการต้นทุน โดยปิดเวลาทำการสาขาให้เร็วขึ้นเพื่อลดเวลาทำงาน รวมถึงการโยกย้ายสาขาบางแห่ง และการปรับลดเงินเดือน ทำให้พนักงานบางส่วนลาออกเพื่อกลับต่างจังหวัด ปัจจุบันเหลือพนักงานราว 60 คน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 80 คน

จากสถานการณ์ที่คาดว่าลากยาวบริษัทได้ปรับลดเงินเดือนพนักงานที่มีฐานเงินเดือนสูงกว่า 1.5 หมื่นบาท ลง 5% และลดอัตราขั้นบันไดตามฐานเงินเดือน รวมถึงเปลี่ยนจากการซื้อประกันกลุ่มมาเป็นประกันอุบัติเหตุ (P/A) แทน

นอกจากนี้ได้มีการปิดสาขาในบางพื้นที่ไปแล้ว 8-10 แห่ง จากเดิมบริษัทมีสาขาราว 60 แห่ง โดยปิดสาขาที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้า 2 แห่ง และตามศูนย์การค้า ซึ่งเป็นสาขาย่อยและทับซ้อนกัน ปริมาณธุรกรรมน้อย รวมถึงปิดในพื้นที่ที่ไม่ได้ช่วยปรับลดค่าเช่า

"ตอนนี้เราต้องหดตัวให้เล็ก เพื่อเก็บกำลังไว้รอเวลาเพื่อใหญ่เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ โดยระหว่างนี้ก็ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไปก่อน เป็นธุรกรรม wholesale เพื่อประทังให้อยู่รอด และมีธุรกรรมซื้อขายจากแรงงานต่างประเทศบ้าง หรือนักท่องเที่ยวที่มาอยู่ยาว ๆ กลุ่มนี้ก็ยังขนเงินมาแลกจำนวนมากพอให้บริษัทมีธุรกรรมบ้าง

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ธปท.ต้องผ่อนคลายเรื่องการโอนเงินตราต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะจะเป็นทางเลือกให้บริษัทแลกเงินด้วย เพราะคนเดินทางไม่ได้ ทำให้ระบบโอนเงินตราต่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้น และผู้บริโภคได้ประโยชน์ บริษัทแลกเงินอยู่รอดได้"

ซุปเปอร์ริชสีส้มปิดกว่า 30 สาขา
ด้านนายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ "ซุปเปอร์ริชสีส้ม"เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา บริษัทได้ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของพนักงานทยอยปรับลดจาก 380 คน เหลือเพียง 200 คน ส่วนพนักงานที่ยังอยู่บริษัทจะจ่ายเงินเดือน 75% และผู้บริหารจ่ายเพียง 50% ของฐานเงินเดือน อย่างไรก็ตาม การปรับลดเงินเดือนเมื่อคำนวณแล้วจะต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

โดยบริษัทยังคงใช้มาตรการแบบนี้ไปจนกว่าสนามบินจะเปิดให้เดินทางได้ปกติ ขณะที่จำนวนสาขาภายในสิ้นปีจะเหลือเพียง 12-15 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 50 แห่ง สาขาที่ปิดส่วนใหญ่ไม่ใช่แหล่งชุมชน ปริมาณธุรกรรมไม่เยอะ หรือค่าเช่าพื้นที่ยังสูงอยู่ เพื่อลดภาระต้นทุน

ยอดแลกเงินเหลือแค่ 5%
นายปิยะกล่าวว่า หากดูปริมาณธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราจะพบว่า ปัจจุบันเหลือธุรกรรมเฉลี่ย 600-700 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 5-6% จากเดิมเคยพีกสุดอยู่ที่ 9,000-10,000 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ดี บริษัทหวังว่าปริมาณธุรกรรมจะกลับมาได้อย่างน้อย 50% ภายในกลางปี"64 ส่วนหนึ่งมาจากการดึงส่วนแบ่งตลาดมาจากธนาคาร ภายหลังจากธนาคารทยอยปิดสาขาและจุดแลกเงิน ซึ่งเดิมมาร์เก็ตแชร์ธุรกรรมจะอยู่กับธนาคารพาณิชย์ประมาณ 30% และผู้ประกอบการแลกเงิน 70%

เนื่องจากบริษัทยังมีสาขา รวมถึงอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต การเป็นผู้ประกอบธุรกิจโอนเงินต่างประเทศ (money transfer) และ e-Money จาก ธปท. โดยระหว่างนี้บริษัทได้ลงทุนและพัฒนาระบบไอทีต่อเนื่องเพื่อรองรับการทำธุรกิจ

"เรายังมองธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศยังมีศักยภาพ แม้จะปิดสาขาไปบ้างแต่ธุรกิจยังไม่ได้ปิดตัว แม้ว่ารายเล็ก ๆ จะหายไปเยอะก็ตาม แต่ผู้ประกอบการที่เหลือก็ต้องปรับตัว เช่นเดียวกับเราที่มองว่าธุรกิจจะถูกดิสรัปต์ จึงได้มีการพัฒนาระบบดิจิทัล แม้จะกระท่อนกระแท่นในช่วงเริ่มต้น แต่จะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะหลาย ๆ อย่าง ธปท.ก็ผ่อนคลายกฎ ลดข้อจำกัด ซึ่งเราหวังว่า 6 เดือนจากนี้ธุรกรรมกลับมาได้ 50%ก็ดีมากแล้ว"

รอธุรกิจท่องเที่ยวฟื้น
นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยอมรับว่าต้องรอภาคการท่องเที่ยวกลับมาก่อน ซึ่งจากการประเมินคาดว่าวัคซีนน่าจะเริ่มมีในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมา แต่คงยังไม่เหมือนช่วงก่อนโควิด-19เพราะทุกประเทศได้รับผลกระทบ และยังต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้น ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะทยอยฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของผู้รับอนุญาตหรือ money changer ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มียอดซื้อขายอยู่ที่ 9,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับลดลงราว 53.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดซื้อขาย19,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 



เครดิตแหล่งข้อมูล : www.prachachat.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
คุณ : me
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 203.151.136.238

203.151.136.238,,238.136.151.203.sta.inet.co.th ความคิดเห็นที่ 3 [อ้างอิง]
wellcome


[ วันอาทิตย์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11:20 น. ]
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์