ไขข้องใจปรากฎการณ์ฟ้าแดง ลางบอกเหตุก่อนพายุเกิด
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ไขข้องใจปรากฎการณ์ฟ้าแดง ลางบอกเหตุก่อนพายุเกิด
กลายเป็นกระแสแชร์อย่างล้นหลามไปทั่วสังคมออนไลน์ในขณะนี้ สำหรับภาพ "ปรากฎการณ์ท้องฟ้าสีแดง" ที่พบในภาคใต้ของประเทศไทย โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ ต่างเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุก่อนที่ "พายุปาบึก" เข้าถล่มภาคใต้นั้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความระบุ "#ทำไมท้องฟ้าจึงเป็นสีแดง พี่พลมีคำตอบครับ ปรากฏการณ์ท้องฟ้าสีแดง หากใครได้เห็นท้องฟ้ายามเช้าหรือเย็น อาจจะเห็นว่าท้องฟ้ามีสีแดงกว่าปกติ เพราะอะไรท้องฟ้ายามเช้าหรือเย็นถึงเป็นสีแดง และการที่มันมีสีแดงกว่าปกตินี้มันเกิดจากอะไรกันแน่?" การที่ท้องฟ้ายามเช้าหรือเย็นเป็นสีแดงนั้น เกิดจากการกระเจิงของแสง (scattering) เนื่องจากการกระเจิงของแสงนั้น จะเกิดขึ้นได้ดีกว่าในแสงที่มีความยาวคลื่นสั้น แสงที่มีสีฟ้าจึงจะสามารถกระเจิงได้ง่ายกว่าสีแดงเป็นอย่างมาก การกระเจิงของแสงสีฟ้านี้เอง ที่ทำให้เราเห็นท้องฟ้าในเวลากลางวันเป็นสีฟ้า
แต่ในเวลาเช้าหรือเย็นนั้น แสงอาทิตย์ต้องเดินทางเฉียดผิวโลกมากขึ้น ทำให้ต้องผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาขึ้น จึงมีการกระเจิงเพิ่มขึ้น เมื่อแสงความยาวคลื่นสั้นอื่นๆ ถูกกระเจิงไปหมดแล้ว เราจึงสังเกตเห็นแสงสีแดงที่กระเจิงได้น้อยกว่า ในปริมาณที่มากกว่าแสงความยาวคลื่นอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงสังเกตเห็นท้องฟ้าในยามเช้าหรือเย็นเป็นสีส้มแดง เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Atmospheric Extinction หรือ Reddening เนื่องจากการกระเจิงของแสงนั้นขึ้นอยู่กับฝุ่นในชั้นบรรยากาศของโลก ในบางครั้งที่มีฝุ่นเยอะเป็นพิเศษ เช่นในบริเวณที่มีเถ้าภูเขาไฟหรือไฟป่าลอยมา เราอาจจะพบว่าแสงสนธยามีความแดงเป็นพิเศษ
มีคำกล่าวของทางกะลาสีฝรั่ง ที่กล่าวเอาไว้ว่า "Red sun at night, sailors' delight.Red sun at morning, sailors take warning" ซึ่งเป็นวิธีการพยากรณ์อากาศแบบพื้นบ้าน โดยกล่าวเอาไว้ว่าแสงสนธยาแดงในยามเย็น จะบอกถึงอากาศที่ดีในวันรุ่งขึ้น แต่แสงสนธยาแดงก่ำในตอนเช้านั้น จะหมายถึงพายุฝนฟ้าคะนองที่กำลังจะมา และเรือเล็กไม่ควรออกจากฝั่ง ซึ่งถ้าหากเราอิงตามคำทำนายนี้ เราจะทำนายได้ว่าวันพรุ่งนี้จะต้องอากาศดีอย่างแน่นอน เพราะถ้าหากเราสามารถเห็นแสงสีแดงของดวงอาทิตย์ฉายไปยังบนเมฆได้ ก็แสดงว่าท้องฟ้าทางทิศตะวันตกที่ลับขอบฟ้าไปนั้นจะต้องเป็นฟ้าใสที่ปราศจากเมฆอย่างแน่นอน และนั่นหมายความว่าลมจากทิศตะวันตกจะต้องกำลังพัดเอาฟ้าใสมาในวันรุ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในทางดาราศาสตร์นั้น กระบวนการ Extinction นี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่เฉพาะชั้นบรรยากาศของโลกเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเราสังเกตดาวฤกษ์ผ่านกลุ่มเนบิวลาหรือแถบฝุ่นของกาแล็กซีทางช้างเผือก เราก็จะพบว่าดาวฤกษ์เบื้องหลังนั้นสี "แดง" กว่าอย่างเห็นได้ชัด เราเรียกว่า Interstellar Extinction นอกไปจากนี้บริเวณที่ฝุ่นหนามากๆ เราอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นดาวฤกษ์ในช่วงความยาวคลื่นแสงปรกติได้เลย แต่เรายังสามารถสังเกตเห็นได้ผ่านทางความยาวคลื่นอินฟราเรดหรือวิทยุ ที่มีความยาวคลื่นสูงกว่าเป็นอย่างมาก
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น