มมส.คณะเภสัชศาสตร์ เร่งผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้าแจกประชาชนน้ำท่วม
อาจารย์เภสัชกรกรีพล แม่นวิวัฒนกุล อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า เกิดขึ้นจากในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน หลายจังหวัดในภาคอีสานประสบปัญหาน้ำท่วมหนักและต่อเนื่อง ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในหลายด้าน สำหรับคนที่ต้องลุยน้ำหรือย่ำน้ำสกปรกซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ มักเกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า โรคน้ำกัดเท้า โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักพบในคนที่ต้องลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน บริเวณเท้า จึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก คัน และแสบ และอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมาได้
สิ่งที่มีความจำเป็นมากอีกอย่างหนึ่งซึ่งขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ คือยารักษาโรค โดยเฉพาะยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากการแช่เท้าในน้ำที่มีเชื้อโรค คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเรื่องการขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สนับสนุนขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
สำหรับขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า มีส่วนผสมจากตัวยา Benzoic acid, Salicylic acid, Sulfur, Liquid paraffin และ Hard paraffin นำมาหลอมละลายรวมกัน พักไว้ให้เย็น แล้วนำมาบรรจุลงในตลับก่อนจะปิดฝาและติดฉลากแนะนำวิธีใช้ยาที่เหมาะสม แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเจ้าหน้าที่ที่ลงไปช่วยเหลือซึ่งต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน ก็จะทำให้การเจ็บป่วยลดน้อยลง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงชนัตถา พลอยเลื่อมแสง คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีภารกิจในการผลิตเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริบาลทางเภสัชกรรม และการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งการผลิตยา เลือกสรรยา และการคุ้มครองผู้บริโภค นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชุมชน เรายินดีที่จะเป็นส่วนสนับสนุนแก่หน่วยงานที่ร้องขอ และอาสาในการผลิตผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเจ้าหน้าที่ที่ลงไปช่วยเหลือต้องซึ่งแช่น้ำเป็นเวลานาน
โดยขณะนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ดำเนินการเร่งด่วนในการผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า ซึ่งมีอาจารย์ บุคลากร และนิสิตจิตอาสา ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันบรรจุยาและติดฉลากในตลับ พร้อมส่งต่อให้กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อลงพื้นที่แจกจ่ายให้กับประชาชนที่ต้องการอย่างเร่งด่วนต่อไป ซึ่งปัจจุบันได้ส่งมอบไปแล้ว จำนวน 1,500 ตลับ และกำลังเร่งบรรจุส่งตามไปอีกจำนวน 5,000 ตลับ และผลิตต่อเนื่องจนกว่าจะเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้งบประมาณในการจัดซื้อสารเคมี และบรรจุภัณฑ์ ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้มีจิตศรัทธาในการร่วมสมทบทุนบริจาคมาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม