ครบรอบ 1 ปี! “ชื่อเสียง” และ “เงินตรา” พัดพาให้ “ทีมหมูป่าอะคาเดมี” เปลี่ยนไปอย่างไร ?
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ครบรอบ 1 ปี! “ชื่อเสียง” และ “เงินตรา” พัดพาให้ “ทีมหมูป่าอะคาเดมี” เปลี่ยนไปอย่างไร ?
ผ่านไปหนึ่งปีแล้ว กับภารกิจช่วยชีวิตหมูป่า ชีวิตของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป และกลุ่มคนที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดก็คงไม่พ้นเด็ก ๆ กลุ่มที่ติดถ้ำที่ผันตัวเองเป็นบุคคลสาธารณะที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
"แค่ติดถ้ำเอง ทำไมถึงได้อะไรแบบนี้" คำถามที่เด็กนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ถามขึ้นมาด้วยความที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็ก ๆ ทีมหมูป่าอะคะเดมี่ที่ประสบเหตุติดถ้ำเมื่อปีที่แล้วถึงได้ผลตอบแทนทางวัตถุ และชื่อเสียงมากมาย
ถึงแม้ว่าเด็กในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่วนใหญ่จะไม่ได้นำเรื่องนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของความคิด แต่ด้วยชื่อเสียงของเด็กกลุ่มที่ประสบเหตุ และโอกาสที่พวกเขาได้รับหลังจากเกิดเหตุการณ์ ก็ทำให้หลายคนสงสัยไม่ได้ว่านี่เป็นทางลัดเพื่อจะสร้างชื่อเสียงหรือไม่
ปาฏิหาริย์ของปฏิบัติการนี้นำมาซึ่งชื่อเสียงของเด็ก ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ ได้รับคำเชิญให้เดินสายให้สัมภาษณ์ภายในประเทศ เดินทางไปออกงานสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก และยังได้เซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวไปในรูปแบบของความบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์ เห็นได้ชัดว่าเด็ก ๆ ได้รับโอกาสใหม่ในชีวิต แต่ก็มีหลาย ๆ คนตั้งคำถามว่าโอกาสเหล่านั้นกำลังส่งผลเสียต่ออนาคตของเด็ก ๆ หรือเปล่า
"ส่วนหนึ่งก็จะมีอยู่บ้างที่มีความเบี่ยงเบนความสนใจจากการเรียนไปสู่เรื่องอื่นบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของเด็กทั่วไปตามธรรมชาติ เช่นออกไปเที่ยวเตร่บ้าง เคยซ้อมฟุตบอลก็ไม่เป็นประจำ สม่ำเสมอบ้าง หรือการที่ออกงานบ่อย ๆ ทำให้ติดใจบรรยากาศข้างนอกมากกว่าในโรงเรียน และบางส่วนไม่ยอมกลับมาเรียนบ้าง" นายคเณศ พงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์
ปัจจุบัน เด็กกลุ่มติดถ้ำยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้อยู่ 5 คน โดยมี 2 คนที่เพิ่งจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเข้าศึกษาที่โรงเรียนอื่น
ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า หลังเหตุการณ์ใหม่ ๆ มีสื่อมาคอยสัมภาษณ์อยู่ตลอดเวลา ทางโรงเรียนต้องเรียนรู้วิธีการรับมือกับสื่อให้ไม่กระทบกับการเรียนของเด็กทุกคนของโรงเรียน หลังจากนั้นเด็ก ๆ กลุ่มนี้ก็มีกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น โดยมีสื่อมวลชนและกลุ่มผู้ที่ต้องการให้เด็กไปทำกิจกรรมนอกชั้นเรียน ติดต่อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยทำให้เด็ก ๆ เสียการเรียนไปบ้าง แต่หลังจากเด็กกลับมาจากการร่วมกิจกรรม โรงเรียนก็มีการเปิดสอนเพิ่มเติมให้ในช่วงที่เด็กขาดเรียนไป ตอนช่วงหลังเลิกเรียนหรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
"เด็กกลุ่มนี้เห็นความสำคัญของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ตั้งกลุ่มเฉพาะขึ้นมา และทำให้เป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ยาก ทำให้เพื่อนกลุ่มเดิม ๆ มีห่างไปบ้าง มันก็เป็นปรกติของเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่น ในเรื่องของการปรับตัว โดยส่วนตัวคิดว่าถึงจะไม่ใช่เป็นกลุ่มเด็กติดถ้ำก็มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน" คเณศ กล่าว
น.ส.ภาษิตา ชัยศิลปิน หนึ่งในครูที่ดูแลเด็กนักเรียนที่เป็นเด็กกลุ่มที่เคยติดถ้ำอธิบายเพิ่มว่า นโยบายของโรงเรียนคือพวกเขาเป็นเด็กธรรมดากลุ่มหนึ่งและไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือใคร
"ในโรงเรียนไม่มีใครพูดถึงเรื่องที่ผ่านมาเลย เราพยายามทำให้พวกเขารู้ว่าเขาก็เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้พิเศษไปกว่าคนอื่น ๆ แต่โชคดีที่เด็กที่นี่เป็นเด็กน่ารัก และมีความรับผิดชอบ" ภาษิตา กล่าว
ส่วนอีกคนหนึ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กทุกคนมากที่สุด นั่นก็คือหัวหน้าผู้ฝึกซ้อมทีมหมูป่าอะคาเดมี นายนพรัตน์ กันทะวงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม "โค้ชนพ"
"น้อง ๆ ในกลุ่มติดถ้ำไม่ได้มาซ้อมฟุตบอลครบทีมเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ที่ยังมาอยู่สม่ำเสมอจริง ๆ ก็แค่ 3 คน นอกจากนั้นก็มาบ้างขาดบ้าง แต่ก็สุดแล้วแต่ เพราะนี่เป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์" โค้ชนพกล่าว
ในช่วงแรกของการก่อตั้งสโมสร ทีมหมูป่าอะคาเดมีมีสมาชิก 84 คน โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ มีผู้ปกครองนำเด็กมาขอเข้าทีมมากกว่า 120 คน แต่ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 15 คน ซึ่งเป็นน้อง ๆ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้ ๆ สนาม ในพื้นที่ ต.ป่าผาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถึงแม้จะมีจำนวนเด็กที่น้อยลงมากแต่โค้ชนพก็ยังยืนยันที่จะทำทีมนี้ต่อไป
"ตั้งแต่ออกจากถ้ำ เด็กกลุ่มติดถ้ำก็ไม่มีเวลามาสนใจการฝึกซ้อมฟุตบอลเหมือนแต่ก่อน ที่ผ่านมาน้อง ๆ ทีมหมูป่ากลุ่มติดถ้ำมักจะมีกิจกรรมที่สอดแทรกทำให้น้องกลุ่มที่อยากเล่นฟุตบอลจริง ๆ ไม่ได้ไปดั่งใจ" โค้ชนพกล่าว
โดยเด็ก 12 คนที่ประสบภัยได้ออกจากทีมหมูป่าอะคาเดมีไปหมดแล้ว โดยส่วนหนึ่งไปเข้าทีมกับโค้ชเอก และอีกส่วนหนึ่งย้ายไปเรียนในพื้นที่อื่น
"ส่วนตัวแล้วไม่สามารถช่วยน้องกลุ่มที่ยังอยากเล่นฟุตบอลจริง ๆ ได้ไปมากกว่านี้แล้ว เพราะผู้หลักผู้ใหญ่อยากให้ออกไปทำกิจกรรมอื่นเยอะมาก เพราะมันมีผลกระทบต่อคนทั้งทีม บางทีซ้อมกันมาเป็นอาทิตย์ แต่พอใกล้ถึงวันแข่ง น้อง ๆ กลุ่มติดถ้ำก็ต้องไปทำกิจกรรมที่ผู้หลักผู้ใหญ่จัดแบบไม่ได้แจ้งล่วงหน้ามาก่อน และน้อง ๆ ต้องไป ซึ่งมันกระทบทั้งทีม"
พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษกคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์กรณีถ้ำหลวง และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้บอกกับสื่อไทยว่าทางรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์กรณีถ้ำหลวงขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิ์ของเด็กทีมหมูป่าโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครมาหาประโยชน์จากเด็กกลุ่มนี้ และให้สื่อทุกอย่างที่มีการปรากฎตัวของเด็ก ๆ เป็นไปอย่างเป็นกลางและสร้างสรรค์
"สำหรับเสียงตอบรับด้านลบ ๆ เกี่ยวกับตัวเด็กต้องถามก่อนว่าใครเป็นคนพูด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการดูแลเด็กทุกคน" พลโทวีรชนกล่าว
โค้ชนพบอกกับบีบีซีไทยว่า ทีมหมูป่าอะคาเดมี มีนโยบายชัดเจนกับการให้โอกาสเด็กในกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมาถึงวันนี้ทางทีมก็ยังมีนโยบายเดิมคือกับการช่วยให้น้องในทีมได้สัญชาติไทย
"หมูป่าก็ยังเป็นหมูป่า เราจะทำการฝึกซ้อมเด็กจนวันที่เหลือเด็กคนสุดท้าย" โค้ชนพกล่าว
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น