เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค เปิดเผยว่า
ปัจจุบันน้ำลูกยอ น้ำพลูคาว กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มคนรักสุขภาพ คิดเป็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวผลิตโดยการหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในวัตถุดิบ ตามธรรมชาติ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น น้ำสมุนไพรชีวภาพ น้ำจุลินทรีย์ น้ำสกัดชีวภาพ น้ำไอออนิกพลาสมา แต่ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยและสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ ยังไม่แน่ชัด
จากสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของชุดโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค
โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ศพช.อย.) ได้วิจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา ผลการวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณประโยชน์จากพืชหรือสมุนไพรที่ใช้จริง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น เชื้อที่ทำให้เจ็บคอ เชื้อที่ทำให้กระเพาะอาหาร อักเสบเรื้อรัง เชื้อตามผิวหนังที่ก่อแผลพุพอง เชื้อที่ทำให้ ท้องร่วง เชื้อที่ทำให้เหม็นเน่า ฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากกรดน้ำนม หรือกรดแล็กติก ที่เกิดจากกระบวนการหมักพืชเหล่านั้นด้วยจุลินทรีย์กลุ่มที่สร้างกรดแล็กติก เช่น จุลินทรีย์ แล็กโตบาซิลลัส ที่รู้จักกันดี ซึ่งมีอยู่ในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต
จุลินทรีย์บางตัวในกลุ่มนี้ช่วยย่อยอาหาร สร้างสารอาหารพวกวิตามินบี และวิตามินเค
ช่วยดูดซึมสารอาหารและช่วยระบบขับถ่าย เมื่อรับประทานไปจะไปเกาะผนังลำไส้ใหญ่ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันผ่านระบบน้ำเหลืองที่มายังผนังลำไส้ได้ นอกจากนี้ บางชนิดยังยับยั้งการเปลี่ยนไนโตรเจนจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ให้กลายเป็นสารก่อมะเร็งในลำไส้ได้ด้วย จึงเรียกว่าเป็นจุลินทรีย์เสริมชีวนะ หรือในต่างประเทศคือ จุลินทรีย์ โปรไบโอติก
“ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย มีการผลิตมาก่อนแล้ว โดยการนำพืช ผัก ผลไม้ มาหมัก ทำให้ไม่ต้องใช้ สารเคมีกันเสียในการถนอมอาหาร เมื่อบริโภคก็ได้ ประโยชน์ทั้งจากพืชผัก และจุลินทรีย์แล็กติกดังกล่าว แต่หากใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้องก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพได้ โดยเฉพาะการผลิตขนาดใหญ่ๆ มีปัจจัยที่ต้องควบคุมการปนเปื้อนมากขึ้น ไม่ว่าจากขนาดภาชนะหมักที่ใหญ่ ขึ้น พื้นที่ผิวที่มากขึ้น น้ำหนักกดทับที่มากขึ้น ล้วนแต่ ส่งผลต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต่างไป หากมีพื้นที่ผิวสัมผัสกับอากาศมากขึ้น ก็จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อปนเปื้อนได้ง่ายขึ้น ถ้าหากควบคุมการผลิตไม่ดีพอ” หัวหน้างานวิจัยกล่าว