อาหาร-น้ำปนเปื้อน คร่าชีวิตมนุษย์ถึง 4.2 แสนคน/ปี มากกว่าโรคเอดส์!
เมื่อวันที่่ (7 มิ.ย.62) นางกุณฑ์ทาวี กถิรสาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวในงาน "วันความปลอดภัยอาหารโลก" ที่จัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก ว่า ในแต่ละปีทั่วโลก อาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือน้ำที่ไม่สะอาด ได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากกว่าโรคเอดส์ โรคมาลาเรีย และโรคหัดรวมกัน โดยตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น การเสียชีวิต และความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยในหลาย ๆ กรณีนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น และน่าจะป้องกันได้ หากทุกคนช่วยกัน
โดยในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากอาหารประมาณ 600 ล้านคนต่อปี เสียชีวิต 420,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขณะที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีประชากรล้มป่วยด้วยสาเหตุจากอาหารถึง 275 ล้านคนต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างชัดเจน ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้สูญเสียรายได้ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนช้าลง โดยเฉพาะการขจัดความหิวโหยบนโลกให้หมดไปภายในปี 2573 (Zero hunger by 2030)
ขณะที่ภาพรวมความปลอดภัยด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อาหารปนเปื้อนในภูมิภาคนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มาจากการจัดการอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย เช่น อาหารริมทาง และอาหารในตลาดสดที่ถูกทิ้งไว้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงในสภาพอากาศร้อน อาหารที่ปรุงไม่สุก และไม่ได้แช่เย็นในอุณหภูมิที่เหมาะสม การปรับปรุงข้อปฏิบัติด้านสุขอนามัยในภาคการเกษตร และการผลิตอาหารจะช่วยลดการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อโรคในห่วงโซ่อาหาร และในสภาพแวดล้อม การให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภคจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการลดความเสียงจากโรคที่เกิดจากอาหารได้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
นางกุณฑ์ทาวี กล่าวต่อว่า ตลอดห่วงโซ่อาหาร ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ภาคการผลิตอาหารและการเกษตรควรปฏิบัติตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย ประเทศสมาชิกของ FAO ร้องขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการจัดการอาหารปลอดภัย โดย FAO ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่เรียกว่า Codex Alimentarius ให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม
สำหรับการจัดงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นความรับผิดชอบและเป็นหน้าที่ของทุก คน ( Everyone's responsibility and Everyone's business ) เจ้าหน้าที่รัฐต้องให้ความมั่นใจว่ากฎเกณฑ์มีความโปร่งใสและถูกบังคับใช้อย่างยุติธรรม ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบของภาคเอกชน คือ การนำมาตรฐานอาหารปลอดภัยและระบบการจัดการที่ดีไปใช้เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่ผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ในส่วนของผู้บริโภคเองก็มีหน้าที่ต้องช่วยกันระมัดระวังและเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องหลักปฏิบัติที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และโรงเรียนด้วยเช่นกัน