ศิริราช เจ๋งปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จ


ศิริราช เจ๋งปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาสำเร็จ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง ศิริราชประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รักษาผิวกระจกตาเป็นครั้งแรกของไทย ว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ทีมจักษุแพทย์ศิริราช ได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส CLET (Cultivated limbal epithelial transplantation) ต่อมา พ.ศ. 2551 พัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก COMET (Cultivated oral mucosal epithelial transplantation) จากนั้น พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัส โดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง SLET (Simple limbal epithelial transplantation) สำเร็จเป็นครั้งแรกและแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะนำมาช่วยผู้ป่วยตามความเหมาะสมทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้สามารถมารับบริการที่รพ.ศิริราชได้ โดยเป็นโครงการวิจัย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

พญ.งามแข เรืองวรเวทย์  หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวว่า สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา หรือลิมบัสทำหน้าที่สร้างเซลล์ผิวกระจกตาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา และป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตารุกเข้ามาในกระจกตาได้ หากสเต็มเซลล์นี้เสียหายก็ทำให้มีปัญหากระจกตา ขุ่นมัว เสียการมองเห็นได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีปัญหาคือ กระจกตาติดเชื้อ อุบัติเหตุกับดวงตา มีการผ่าตัดหลายครั้ง รวมถึงผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง หรือสตีเว่นจอนสันซินโดรม ตา โรคสเต็มเซลล์ผิวกระจกตาบกพร่องแต่กำเนิด โรคเนื้องอก หรือ ต้อเนื้อขั้นรุนแรง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามวิธีมาตรฐาน ไม่สามารถรักษาภาวะสเต็มเซลล์บกพร่องได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา

พญ.ภิญนิตา  ตันธุวนิตย์  หัวหน้าสาขากระจกตา ภาควิชาจักษุวิทยา และหัวหน้าทีมปลูกถ่ายฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีสเต็มเซลล์บกพร่องอย่างรุนแรง ต้องรักษาโดยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ผิวกระจกตา ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัสหรือเยื่อบุปาก สามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลิมบัส โดยใช้ลิมบัสขนาดเล็ก 2x2 ตารางมิลลิเมตร (ตร.ซม.) ไปเพาะเลี้ยงบนเยื่อรกในห้องปฏิบัติการ 2 สัปดาห์จนเซลล์เจริญเติบโตแผ่ออกมาได้พื้นที่ 3x3 ตร.ซม.แล้วจึงนำมาปลูกถ่ายบนผิวกระจกตาของผู้ป่วย โดยลิมบัสที่นำมาเพาะเลี้ยงได้จากตาที่ดีอีกข้างหนึ่งของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเป็นโรคทั้งสองตา จะใช้ลิมบัสจากญาติสายตรง หรือตาบริจาคของผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งหากเป็นลิมบัสจากผู้อื่น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิเพื่อลดการเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน วิธีที่ 2 คือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเยื่อบุปาก ด้วยการใช้เยื่อบุปากของผู้ป่วยขนาด 5x5 ตารางมิลลิเมตร เพาะเลี้ยงบนเยื่อรกในห้องปฏิบัติการ 2 สัปดาห์ จนเซลล์เติบโต แล้วจึงนำมาปลูกถ่ายบนผิวกระจกตาของผู้ป่วย สาเหตุที่เลือกใช้เซลล์เยื่อบุปากเพราะมีคุณลักษณะคล้ายเซลล์ผิวกระจกตาอีกทั้งเป็นเนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง จึงไม่ต้องรับประทานยากดภูมิ

พญ.ภิญนิตา กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 การนำเนื้อเยื่อจากลิมบัสมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรง โดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการ เป็นวิธีล่าสุด โดยจะตัดเนื้อเยื่อลิมบัสยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร แล้วตัดเป็นชิ้นเล็กๆ วางบนกระจกตาผู้ป่วย ปล่อยให้เซลล์เจริญเติบโตจนเต็มผิวกระจกตา ผลพบว่าสำเร็จเป็นอย่างดี ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ผิวกระจกตา ทั้งนี้เดิมทีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อลิมบัสโดยไม่อาศัยการเพาะเลี้ยง เริ่มผ่าตัดครั้งแรกในประเทศอินเดียปี 2555 แต่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ใช้วิธีนี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2557 โดยโรงพยาบาลศิริราชได้ทำการรักษาผู้ป่วยภาวะสเต็มเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาบกพร่องทั้ง 3 วิธี และได้พัฒนาเทคนิคเฉพาะให้เหมาะสมกับผู้ป่วยไทยด้วยวิธี SLET เรียกว่าศิริราชเทคนิค



เครดิตแหล่งข้อมูล : dailynews





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์