สายสวรรค์ ขยันยิ่ง | เสียงเบื้องหลังความรัก หยาดน้ำตา และความสุข ของผู้บรรยายงานพระราชพิธี
หากย้อนไปตั้งแต่พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เธอคือหนึ่งในผู้หญิงแกร่งที่อยู่เบื้องหลังการบรรยายตลอดหลายวันที่กินเวลาวันละหลายชั่วโมงติดต่อกัน โดยนอกจากน้ำเสียงฉะฉาน และความเป็นมืออาชีพแล้ว เธอยังก้าวข้ามขีดจำกัดของ ‘ผู้บรรยาย' ไปสู่การเป็น ‘นักเล่าเรื่อง' ที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สอดแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอน ความหมาย และบริบทของพระราชพิธีต่างๆ ด้วยความรัก ความหลงใหล และความขยันยิ่ง โดยไม่มีแม้แต่สคริปต์อยู่ในมือ ทำให้การบรรยายทุกครั้งของเธอเต็มไปด้วยความน่าสนใจและความรู้เบื้องลึกที่ไม่ได้เสาะแสวงหากันได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้
ไม่มีสคริปต์ การบรรยายถ่ายทอดสดไม่มีสคริปต์ ไม่มีใครมาเขียนให้ว่าต้องพูดอะไร แต่จะมีแค่หมายกำหนดการมาให้ ผู้บรรยายแต่ละท่านจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการหาข้อมูล ทำการบ้าน หรือฟังจากผู้รู้ ถึงแม้เราจะรู้ว่าวันนั้นคือวันอะไร ตั้งแต่เริ่มจนจบจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างเพราะมีหมายกำหนดการบอกอยู่ แต่ในการเชื่อมเรื่องจากขั้นตอนนี้ไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง บางทีมันมีช่องว่าง มีความช้า มีเดดแอร์ มีสิ่งที่บางทีขั้นตอนนั้นกำลังเกิดอยู่ แต่กล้องไม่สามารถเข้าไปถ่ายได้ เพราะอาจเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ทำให้ประชาชนทางบ้านไม่เห็น
บางทีคนดูอาจจะรู้สึกว่าอะไรเนี่ย พูดยาวมาก ภาพในหลวง ภาพพระบรมวงศานุวงศ์หายไปไหน ทำไมมีแต่ภาพปราสาทราชวัง บรรยากาศภายนอกแทน ไม่เห็นพระองค์สักที ตรงนั้นแหละที่ผู้บรรยายต้องใช้ทักษะปฏิภาณไหวพริบ และข้อมูลจากการทำการบ้านมา เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ แล้วผู้บรรยายก็ไม่สามารถรู้ว่า พระองค์จะเสด็จกลับออกมาในงานพระราชพิธีในส่วนที่มีพระราชานุญาตให้ถ่ายได้เมื่อไหร่ นั่นคือโจทย์ที่ยาก ทำอย่างไรให้ไม่เดดแอร์ เราต้องเชื่อมโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้ข้อมูล จนกระทั่งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ขั้นตอนในหมายกำหนดการต่อ
การทำงานเวลามีพระราชพิธีหรือรัฐพิธีก็ตาม เราจะมีการถ่ายทอดแบบพร้อมอกพร้อมใจกันร่วมทำงานถวาย ในนามขององค์กรที่ชื่อว่าโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์หลักๆ ทุกช่อง ก่อนหน้าที่จะมีทีวีดิจิตอล ก็จะมีช่อง 3 5 7 9 11 ซึ่งทั้งหมดก็ต้องมารวมตัวกัน แบ่งงาน และถ่ายทอด ทั้งในส่วนของช่างภาพ ผู้กำกับภาพ ผู้บรรยาย ผู้กำกับเวที เวลามีงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธีก็แบ่งความรับผิดชอบกันไป เช่น วันพืชมงคล ก็มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี หรืองานในโอกาสพิเศษอย่างเช่น 60 ปีครองราชย์ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นต้น พระราชพิธีใหญ่ๆ กำลังของช่องหนึ่งเพียงช่องเดียวอาจไม่สมบูรณ์และไม่มีความพร้อมเท่ากับการรวมตัวกันทุกช่อง แล้วมันก็เป็นเรื่องเหนือหัวเราที่ทุกคนอยากทำถวาย ก็เลยเกิดองค์กรนี้ขึ้นมา
เราเข้ามาทำงานตอนมีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 พอออกอากาศไปสักพัก เราก็ได้รับเกียรติให้ไปเข้าร่วมโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งทำให้ไอทีวีต้องมีคนบรรยายของช่องตัวเอง เอาล่ะสิ ตอนนั้นไอทีวีใหม่มาก คนก็ใหม่ เราเองก็ไม่เคยทำมาก่อน พอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยาย เราก็ต้องทำการบ้านเอง เรียนรู้เองใหม่ทั้งหมด โดยดูจากการถ่ายทอดกันมาเมื่อก่อน ศึกษา ค้นคว้า และเริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้น จนได้เป็นผู้บรรยายของไอทีวี
งานแรกของการบรรยายพระราชพิธีที่เป็นโบราณราชประเพณีจริงๆ คือพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ นั่นเป็นงานแรกที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย ต้องไปค้นคว้าหาข้อมูล อ่านหนังสือ ถามผู้รู้เอาเองทั้งหมด และครั้งที่เป็นประสบการณ์พิเศษที่สุดในชีวิตคือ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ถ่ายทอดยาวที่สุดในชีวิตผู้บรรยายที่เคยทำมา ในฐานะผู้บรรยายการต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการบรรยายตามภาพสดๆ ไปเรื่อยๆ นับเป็นงานที่เราได้เรียนรู้มากที่สุด หลังจากนั้น เราก็ได้รับความไว้วางใจและได้รับมอบหมายให้ทำมาตลอดจนถึงตอนนี้
บรรยายกับภาพสดหมายถึงไม่มีสคริปต์เลยใช่ไหม
ไม่มีสคริปต์ การบรรยายถ่ายทอดสดไม่มีสคริปต์ ไม่มีใครมาเขียนให้ว่าต้องพูดอะไร แต่จะมีแค่หมายกำหนดการมาให้ ผู้บรรยายแต่ละท่านจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการหาข้อมูล ทำการบ้าน หรือฟังจากผู้รู้ ถึงแม้เราจะรู้ว่าวันนั้นคือวันอะไร ตั้งแต่เริ่มจนจบจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างเพราะมีหมายกำหนดการบอกอยู่ แต่ในการเชื่อมเรื่องจากขั้นตอนนี้ไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง บางทีมันมีช่องว่าง มีความช้า มีเดดแอร์ มีสิ่งที่บางทีขั้นตอนนั้นกำลังเกิดอยู่ แต่กล้องไม่สามารถเข้าไปถ่ายได้ เพราะอาจเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ทำให้ประชาชนทางบ้านไม่เห็น
บางทีคนดูอาจจะรู้สึกว่าอะไรเนี่ย พูดยาวมาก ภาพในหลวง ภาพพระบรมวงศานุวงศ์หายไปไหน ทำไมมีแต่ภาพปราสาทราชวัง บรรยากาศภายนอกแทน ไม่เห็นพระองค์สักที ตรงนั้นแหละที่ผู้บรรยายต้องใช้ทักษะปฏิภาณไหวพริบ และข้อมูลจากการทำการบ้านมา เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ แล้วผู้บรรยายก็ไม่สามารถรู้ว่า พระองค์จะเสด็จกลับออกมาในงานพระราชพิธีในส่วนที่มีพระราชานุญาตให้ถ่ายได้เมื่อไหร่ นั่นคือโจทย์ที่ยาก ทำอย่างไรให้ไม่เดดแอร์ เราต้องเชื่อมโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้ข้อมูล จนกระทั่งทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ขั้นตอนในหมายกำหนดการต่อ
ไม่ง่ายเลย หนึ่งคือเรารักเรื่องนี้ เราหลงใหลประวัติศาสตร์ งานพระราชพิธี เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วก็ชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบดู ชอบจับสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ พวกนี้คือการเก็บข้อมูลหมดเลย เรารักอะไรเราก็มักจะให้เวลากับสิ่งนั้นมากเป็นพิเศษใช่ไหมล่ะ ถ้าเราเห็นเรื่องประวัติศาสตร์โบราณราชประเพณีก็รีบคว้าเลย มันเป็นความชอบจากข้างใน ถ้าเรารัก เราก็จะเสาะแสวงหาข้อมูลจากความรัก อ่าน ดู ฟัง มีบรรยายที่ไหนเราก็พยายามไปฟัง ซึ่งเรื่องพวกนี้มันไม่มีใครมากำหนดให้เราทำ แต่เราแสวงหามันเอง ซึ่งความรักนี้มันทำให้เราพร้อมทำงานเสมอ
สองคือเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะพระราชพิธีต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ความหมาย ขนบธรรมเนียม หรือศัพท์แสงที่เราจะต้องเล่าเรื่องเหล่านี้ มันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนพูดกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การเรียนรู้มันจะยากแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้นแหละ พอเราเรียนรู้ไปสักพัก เราจะเริ่มต่อยอดและเชื่อมโยงได้ด้วยตัวเอง พอเกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว ผู้บรรยายก็ต้องถ่ายทอดออกมาได้เหมือนนักเล่าเรื่อง คือมันต่างจากการฟังอาจารย์สอนหนังสือหรือผู้เชี่ยวชาญในบางเรื่องมากๆ แต่บางทีท่านอาจจะเล่าแล้วเราไม่เข้าใจก็มี เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่เราต้องเข้าใจและสามารถถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้ด้วย มันต่างกัน ถ้าใครถ่ายทอดด้วยการเสิร์ชกูเกิล แล้วพรินต์บทความมาอ่านระหว่างการบรรยาย แค่นั้นไม่พอนะ เพราะต่อให้เราเข้าใจ เราก็เป็นเพียงผู้ส่งสารจากบทความนั้นออกไปเท่านั้นเอง แต่การเล่าได้ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีกระดาษแผ่นนั้น เราเป็นผู้เล่าด้วยตัวเอง การเล่าเรื่องด้วยความรักและความเข้าใจมันลึกซึ้งกว่าการที่แค่อ่านออกเสียงหลายเท่า
จริงๆ ร้องนะ เราเชื่อว่าทุกคนมีอารมณ์เดียวกันในงานนั้น แต่ต้องร้องอย่างไรที่จะกลั้นสะอื้นไม่ให้เสียงดังออกอากาศ คือทุกคนที่นั่งอยู่หลังไมค์นี่ร้องไห้ทุกคน ยังคิดเลยว่าเราโชคดีขนาดไหนที่บรรยายแบบกล้องไม่จับหน้า แต่ถ้ารู้สึกว่าตัวเองร้องไห้หนักจริงๆ ต้องหยุด กลั้นหายใจ สูดลมหายใจลึกๆ แล้วค่อยพูดใหม่ คือน้ำตาไหลได้ แต่เสียงต้องไม่เปลี่ยน ไม่สะอึกสะอื้นออกมา เหมือนตอน 60 ปีครองราชย์ นั่นคือไม่ได้เศร้าด้วย แต่เรารู้สึกปีติ หัวใจพองโต เพราะนั่งบรรยายอยู่ชั้นล่างพระที่นั่งอนันตสมาคมได้ยินเสียงประชาชนตะโกนว่าทรงพระเจริญดังก้องพระลานพระราชวังดุสิตขณะที่พระองค์เสด็จออกสีหบัญชร น้ำตามันไหลจนเราไม่ไหวแล้ว ต้องก้มลงสะอื้นใต้โต๊ะ ตั้งสติและบรรยายต่อ นี่เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการบรรยายที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลย
ในฐานะที่เราเป็นสื่อ แล้วก็เป็นคนหนึ่งที่มีหน้าที่รักษาประเทศชาติ เราไม่ได้แค่ตั้งใจทำงานพระราชพิธีเท่านั้น แต่เราตั้งใจทำทุกเรื่อง ทั้งอ่านข่าว ทำสารคดี ทำทอล์กโชว์ เพราะเราถือว่าเกิดมาเป็นสื่อมวลชน เรามีโอกาสที่เราพูด 1 ครั้ง มีคนฟังมากกว่า 1 คน นั่นคืออิทธิพลของสื่อที่เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ได้ เพราะฉะนั้น มันจึงสำคัญมากที่เราจะช่วยกันทำให้ประเทศชาติมั่นคงอยู่ได้ด้วยความรับผิดชอบของเรา
ปัจจุบันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมมีความหลากหลาย มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งหลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง บวกบ้าง ลบบ้าง กลางๆ บ้าง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่รับสารจากเราสามารถตีความเรื่องที่เขารับได้อย่างมีคุณภาพมากขนาดไหน เพราะฉะนั้น เราในฐานะสื่อจึงควรทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สารที่ส่งออกไปมีคุณภาพมากที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องงานพระราชพิธี แต่เราพยายามทำทุกอย่างด้วยแนวคิดนี้ เพราะเมื่อเรามีอุดมการณ์แบบนี้ ไม่ว่าหน้างานจะเป็นอะไร เราจะสามารถแปลสิ่งที่เราอยากสื่อออกไปได้หมดเลยด้วยหัวใจดวงเดิม
คุณคิดว่า ในยุคนี้งานพระราชพิธีมีความสอดคล้องกับชีวิตคนรุ่นใหม่อย่างไร
เราเชื่อว่า งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เราจะได้เห็นครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่หาดูที่ไหนไม่ได้ สมัยก่อน สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชพิธีที่สืบทอดตามประเพณีโบราณมากมาย หากเราเกิดในยุครัตนโกสินทร์ แปลว่าสิ่งเหล่านี้ที่เราเห็น มันสืบทอดมาตั้งแต่กรุงธนบุรี ย้อนไปอยุธยา บางอย่างก็เก่าแก่ถึงสุโขทัย ถามว่า เราเกิดมาชาตินี้ แต่เราได้เห็นสิ่งที่ได้รับการสืบทอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นี่คือโชคดีของเรา ถึงแม้ว่าบางอย่างจะมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของกาลเวลาและสภาพสังคมในปัจจุบัน บางอย่างอาจจะสั้นลง มีการลดทอน แต่อย่างน้อยเราก็ยังโชคดีที่เกิดมาแล้วได้เห็นสิ่งที่มาจากการสืบทอดอย่างเข้มแข็งจากบรรพบุรุษ แล้วเราจะละเลยสิ่งที่เราเกิดมาโชคดีขนาดนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ทำไม
สอง คือพระราชพิธีต่างๆ เหล่านี้ที่สะท้อนให้เห็นถึงโบราณราชประเพณีของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยึดโยงความเป็นชาติเอาไว้ได้ มันยังมีอีกกี่ชาติในโลก เราไม่ควรปล่อยให้ใกล้เกลือกินด่าง แล้วให้สื่อต่างชาติมาถ่ายทอดออกไปให้ฝรั่งเขาดูแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เราควรเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมสัมผัส และร่วมบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้ด้วยหู ด้วยตา ด้วยความรู้ความเข้าใจของตัวเอง นี่คือความรู้สึกที่หาไม่ได้ คนที่เคยเห็นพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งหลังสุดคือเมื่อ 69 ปีที่แล้ว เรายังไม่เกิดเลย สื่อต่างๆ ที่ถ่ายทอดก็ยังไม่สมบูรณ์และทันสมัยเท่าวันนี้ คนยุคเราจึงควรค่าที่จะศึกษาค้นคว้า ดูอย่างสนใจเรียนรู้ และทำให้สิ่งนี้ยังจรรโลง เป็นคุณค่าทางจิตใจของคนไทยทั้งประเทศได้ต่อไป มันเป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตจริงๆ ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้บรรยาย เราก็คงเกาะติดหน้าจอทั้ง 4 วันเลย (หัวเราะ)