วิเคราะห์สถานะการณ์วัยรุ่นไทย
สถานการณ์วัยรุ่นไทยอาการหนัก พบอายุ 11-19 ปี เริ่มดื่มเหล้า 1.2 ล้านคน จ่ายค่าเกม-มือถือ-อาหารขยะ เดือนละเกือบ 4 พันบาท ปัญหาคลอดบุตรก่อนบรรลุนิติภาวะพุ่งสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านเครือข่ายเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชี้รัฐบาลติด 'ร' การมีส่วนร่วม แนะผลักดันทุกฝ่ายตั้งคณะทำงานผนึกกำลังแก้ปัญหา
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในงานเสวนา 'เยาวชนผลประโยชน์เพื่อใคร'
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 กันยายน เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ว่า สถานการณ์สุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในปีที่ผ่านมายังน่าห่วง พบว่าเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งตามมาด้วยปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการคลอดบุตรในเยาวชนอายุต่ำกว่า 19 ปี สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเสี่ยงต่อมาคือ การเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อินเตอร์เน็ต เกม นอกจากนี้ยังมีการบริโภคนิยมและวัตถุนิยม ส่วนสาเหตุการตายลำดับ 1 ของเยาวชนมาจากอุบัติเหตุ ประมาณปีละ 4,000 คน หรือ 12 คนต่อวัน โดยร้อยละ 40 ของอุบัติเหตุมาจากการดื่มเหล้า
'ขณะนี้เด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ก็เริ่มดื่มเหล้า มีเด็กชายอายุ 11-19 ปี ดื่มเหล้าถึง 1 ล้านคน เด็กหญิงอายุ 15-19 ดื่มราว 2 แสนคน เหล้ายังสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 19 ปี จำนวน 1,000 คน ไปมีเพศสัมพันธ์ ในจำนวนนี้จะตั้งครรภ์และคลอดลูกมากถึง 90 คน และบางส่วนอาจทำแท้ง หรือไม่ก็ตั้งครรภ์ วัยรุ่นจึงติดโรคทางเพศสัมพันธ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ'