แฉ โจ๋ ไทยจ่ายค่า เกม-มือถือ-อาหารขยะ 4พัน/ด. ท้องก่อนวัยสูงสุดในอาเซียน

วิเคราะห์สถานะการณ์วัยรุ่นไทย


สถานการณ์วัยรุ่นไทยอาการหนัก พบอายุ 11-19 ปี เริ่มดื่มเหล้า 1.2 ล้านคน จ่ายค่าเกม-มือถือ-อาหารขยะ เดือนละเกือบ 4 พันบาท ปัญหาคลอดบุตรก่อนบรรลุนิติภาวะพุ่งสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านเครือข่ายเด็ก เยาวชน ครอบครัว
ชี้รัฐบาลติด 'ร' การมีส่วนร่วม แนะผลักดันทุกฝ่ายตั้งคณะทำงานผนึกกำลังแก้ปัญหา


นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในงานเสวนา 'เยาวชนผลประโยชน์เพื่อใคร'

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 กันยายน เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ว่า สถานการณ์สุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในปีที่ผ่านมายังน่าห่วง พบว่าเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งตามมาด้วยปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการคลอดบุตรในเยาวชนอายุต่ำกว่า 19 ปี สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเสี่ยงต่อมาคือ การเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อินเตอร์เน็ต เกม นอกจากนี้ยังมีการบริโภคนิยมและวัตถุนิยม ส่วนสาเหตุการตายลำดับ 1 ของเยาวชนมาจากอุบัติเหตุ ประมาณปีละ 4,000 คน หรือ 12 คนต่อวัน โดยร้อยละ 40 ของอุบัติเหตุมาจากการดื่มเหล้า


'ขณะนี้เด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ก็เริ่มดื่มเหล้า มีเด็กชายอายุ 11-19 ปี ดื่มเหล้าถึง 1 ล้านคน เด็กหญิงอายุ 15-19 ดื่มราว 2 แสนคน เหล้ายังสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 19 ปี จำนวน 1,000 คน ไปมีเพศสัมพันธ์ ในจำนวนนี้จะตั้งครรภ์และคลอดลูกมากถึง 90 คน และบางส่วนอาจทำแท้ง หรือไม่ก็ตั้งครรภ์ วัยรุ่นจึงติดโรคทางเพศสัมพันธ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ'


นพ.สุริยะเดวกล่าวว่า เยาวชนยังเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์


โดยพบว่าเด็กติดเกมจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเล่นหรือซื้อเกมมากถึง 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน เสียค่ามือถือเฉลี่ย 500 บาทต่อคนต่อเดือน ค่าขนมและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ต่ำกว่า 800 บาทต่อคนต่อเดือน (รวมแล้วเกือบ 4,000 บาทต่อเดือน) อีกทั้งข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ในปี 2550 ระบุว่า วัยรุ่นเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดมากขึ้น ขณะที่ครอบครัวอ่อนแอ มีครอบครัวเดี่ยวที่หย่าร้างสูงขึ้นร้อยละ 10 พ่อแม่มีเวลาพูดคุยกับลูกเพียง 38.5 นาทีต่อสัปดาห์ ชุมชนขาดความเข้มแข็ง ผู้ที่ดูแลเด็กขาดทักษะและขาดคุณภาพ

นพ.สุริยเดวกล่าวว่า แม้ว่าผลงานเด่นของรัฐบาลชุดนี้คือการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น เรื่องสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ผลักดันสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จัดระเบียบความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ควบคุมโฆษณาขนมเด็ก และสถานีวิทยุต้นแบบเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว แต่รัฐบาลยังขาดในด้านการเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน


'ภาคเครือข่ายและเยาวชนเห็นตรงกันว่า รัฐบาลสอบผ่านด้านแนวคิด หลักการ รวมทั้งการก่อให้เกิดโครงสร้างระบบ คือ คณะกรรมการประสานงานด้านเด็กและเยาวชน 5 กระทรวง แต่รัฐบาลติด 'ร' ด้านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รัฐบาลชุดนี้และพรรคการเมืองจึงควรผลักดันให้เกิดระบบการทำงานของคณะประสานงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ยั่งยืน และสร้างความร่วมมือของท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนด และการบริหารจัดการวาระเด็ก เยาวชน และครอบครัวทุกปี รวมถึงมีพื้นที่การเรียนรู้และฝึกทักษะสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชนอย่างกว้างขวาง' นพ.สุริยเดว กล่าว


นางสาวรสนา อารีฟ ผู้แทนเครือข่ายเยาวชน 1000 ทาง กล่าวว่า

การส่งเสริมกิจกรรมในปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะกลไกสนับสนุนนอกสถานศึกษา เช่น การริเริ่มโครงการเยาวชน 1000 ทาง และกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มสำรวจโครงการและกลไกเดิมที่มีอยู่เพื่อเตรียมก้าวต่อไป แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดต่อคือ ความยั่งยืนของการดำเนินงานและการพัฒนากลไกในสถานศึกษา


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์