นักวิชาการชี้สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพลากยาวถึง เม.ย. เสนอ 90 วัน ลดยานพาหนะเข้าเขตเมือง
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมเรื่อง"ภัยร้าย "ฝุ่น" กลางเมือง" โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ร่วมหารือเพื่อหาทางออกจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5 ) เกินค่ามาตรฐานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และแนวทางการรับมือนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวัน ซึ่งเกิดขึ้นในเขตกทม. ตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุการณ์ปกติ ที่เกิดขึ้นในช่วงก.พ.-เม.ย.ของทุกปี ซึ่งเมื่อเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 รายวัน ในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ ย้อนหลังไป 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในกทม. พบว่าค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 ในกทม.มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปี อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก.ลบ.ม.) ลดลงถึง 25 % เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่สูงถึง 35 มคก.ลบ.ม.
นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ลดลงเกิดจากการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษ จากรถยนต์ทั้งรถเก่าและรถใหม่ และ คพ. กำลังกำลังพิจารณาที่จะเสนอให้นำมาตรฐานน้ำมันและรถยนต์ ระดับยูโร 5 มาใช้ ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยรวมในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยลดลงได้อีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น จะคงอยู่ไปจนถึงช่วงกลางเม.ย. ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย
อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวอีกว่า ประชาชนทุกคนต่างมีส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จากการใช้ยานพาหนะ การเผา การก่อสร้าง อุตสาหกรรมต่างๆ ฉะนั้นเราจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดปริมาณฝุ่น โดยเฉพาะในช่วง กพ.-เม.ย. สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัว และมีตึกสูงบังทิศทางลม ทำให้เกิดปัญหามลพิษในอากาศสะสมอยู่ในเขตเมือง จึงเสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน ช่วง กพ.-เม.ย. ให้ดำเนินการลดแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศด้วยการขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกทม. เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก นอกจากนี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ควรจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็ก หรือป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน และหากยังไม่คลี่คลาย ควรจำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกทม. ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่ รวมถึงออกประกาศจังหวัด ห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ขณะที่รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่น และผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มธ. กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ มีการกำหนดกำหนดมาตรฐานสำหรับ PM2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปี เท่ากับ 15 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 35 มคก./ลบ.ม และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่าเฉลี่ยรายปี เท่ากับ 10 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม ขณะที่ประเทศไทย ได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับ PM2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม ซึ่งสูงกว่าค่ามารฐานขององค์การอนามัยโลก
ด้าน ศ.แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงก่อสถานการณ์ฝุ่นเกินมาตรฐาน และต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ ซึ่งปริมาณของกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในเขตกรุงเทพฯ มีสูงถึงกว่า 2.3 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อการมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณทีมีฝุ่นมาก สวมผ้าปิดจมูกหรือหน้ากากอนามัย ชนิด N95 ขณะออกจากบ้าน และ เมื่อเกิดอาการควรใช้ยาพ่นป้องกันหอบ ยาพ่นจมูกหรือรับประทานยาแก้แพ้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรลดยาเอง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดควรพกยาพ่นฉุกเฉินที่เป็นยาขยายหลอดลมติดตัวไว้เสมอ รวมถึงพกน้ำตาเทียมหยอดตา หรือน้ำเกลือ สำหรับแก้อาการระคายเคืองตา