แต่ทุกวันนี้ ‘ผู้ล่า' อย่างฉลามกลับกลายเป็น ‘ผู้ถูกล่า' จากการประมงอันบ้าคลั่ง จนทำให้ในปัจจุบันจำนวนของฉลามลดน้อยลงจนถึงในระดับที่น่ากังวล
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี รัฐฟลอริดาประมาณว่าในแต่ละปีจะมีฉลามมากกว่า 100 ล้านตัวที่ตกเป็นเหยื่อจากการทำประมงที่มากเกินขีดจำกัด ซึ่งส่งผลให้ฉลามหลากหลายชนิดตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นักวิจัยบอกด้วยว่า ปรากฎการณ์เหล่านี้จะส่งผลต่อปลาชนิดอื่นๆในทะเลด้วยหากฉลามต้องหายหน้าไปจากท้องทะเลจริงๆ
นีล แฮมเมอร์ชแลค (Neil Hammerschlag) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี บอกว่า การที่ฉลามลดจำนวนลงอย่างมากทั่วโลก ทำให้เขาเกิดแรงผลักดันอยากจะศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าหากไม่มีนักล่าแห่งมหาสมุทรแล้ว โฉมหน้าของโลกใต้ทะเลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี แบ่งพื้นที่ศึกษาปลาชนิดต่างๆ ในแนวแนวปะการังใต้ทะเล 2 แห่งที่มีสภาพนิเวศน์ต่างกัน แห่งแรกคือแนวปะการัง ‘ราวลีย์ ชอร์' (Rowley Shoals) นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์และห้ามจับปลา มีปลาฉลามชุกชุม ขณะที่แห่งที่สองคือบริเวณ แนวปะการังสก๊อต หรือ Scott Reefs ในเขตน่านน้ำที่ไม่ไกลออกไป แต่เป็นแหล่งล่าปลาฉลาม มีฉลามหลงเหลือน้อยมาก
นักวิจัย พบว่า ลักษณะของปลาชนิดต่างๆบริเวณแนวปะการังที่ไม่มีฉลามนั้น ปลาที่พบจะมีดวงตาขนาดเล็ก และหางก็มีขนาดเล็กเช่นกัน ซึ่งนักวิจัย บอกว่า น่าจะเป็นเพราะเจ้าปลาในเขตนี้ไม่ค่อยต้องมากังวลมากนักกับการต้องตกเป็นเหยื่อของฉลาม
นีล บอกว่า การที่ปลามีดวงตาที่โต มีครีบที่ใหญ่ นั้นแสดงให้เห็นถึงการที่ต้องคอยระแวดระวัง กระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการที่ปลาจะมีดวงตาที่ใหญ่โตมากขึ้นก็จำเป็นต้องมาจากพลังสมองมากขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีปลาล่าเหยื่ออยู่รอบๆตัวคอยกดดัน ปลาเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องสูญเสียพลังงานในการคอยระแวดระวังภัยอีกต่อไป ลักษณะของปลาจะมีตาที่เล็กและครีบที่เล็ก และจะหาอาหารแพร่พันธุ์ เจริญเติบโต ได้รวดเร็ว
นักวิจัยทิ้งท้ายว่า การวิจัยนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำประมงที่เกินขีดจำกัดที่ส่งต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเล หลังจากฉลามซึ่งเป็นปลาล่าเหยื่อในระดับบนสุดของห่วงโซ่อาหารนั้นลดจำนวนลง