ขณะที่ประเทศไทยก็ได้นำวัคซีน "เดงวาเซีย" มาใช้ในสถานพยาบาลเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และต้องมีการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทบทวนข้อมูลเพื่อการพิจารณานำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย
สำหรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหน้าที่จะได้รับวัคซีน และอายุของผู้ได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เมื่อ 30 กันยายน 2559 โดยผ่านการพิจารณาและการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันวัคซีนนี้ยังไม่ได้บรรจุในรายการวัคซีนพื้นฐานที่ภาครัฐให้บริการแก่ประชาชน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดบางประการในการป้องกันไข้เลือดออก จำเป็นต้องพิจารณาจากข้อมูลทางระบาดวิทยา การประเมินผลกระทบทางสาธารณสุข ความคุ้มค่าในการนำวัคซีนมาใช้เพื่อลดอัตราป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและลดค่าใช้จ่าย ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน และงบประมาณ
ด้านนายแพทย์ พรศักดิ์ อยู่เจริญ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค ระบุว่า จากข่าวดังกล่าวทำให้กรมควมคุมโรคสั่งระงับวัคซีนตัวนี้ออกไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยได้รับรายงานว่ามีเด็กได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนดังกล่าวเพราะไม่เคยนำไปใช้ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้เลือดออกตามธรรมชาติมาก่อนแล้ว หากฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจะสามารถป้องกันการเกิดโรคที่รุนแรงและป้องกันการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ทราบว่าตนเองเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจรับวัคซีน เพื่อให้แพทย์พิจารณาความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
นายแพทย์พรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้ให้บริการวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในสถานพยาบาลภาคเอกชน แต่การใช้วัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการควบคุมโรค ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมยุงพาหะ การเฝ้าระวังโรค และการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย ประชาชนยังต้องดูแลและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเริ่มจากบ้านของตนเอง ชุมชน และสถานที่สาธารณะต่างๆ และขอให้เน้นมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ
1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง ใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
สำหรับวัคซีนเดงวาเซียของซาโนฟีนั้น เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดแรกของโลก ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ในหลายประเทศ คือ ฟิลิปปินส์, เม็กซิโก, บราซิล, เอลซัลวาดอร์, คอสตาริกา, ปารากวัย, กัวเตมาลา, เปรู, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และไทย โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกของโลกที่มีโครงการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกแก่สาธารณะมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ซึ่งปัจจุบันมีเด็กชาวฟิลิปปินส์ได้รับวัคซีนชนิดนี้ไปแล้วกว่า 733,000 คน
ทั้งนี้มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า โรงพยาบาลเอกชนของไทยหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งโรงพยาบาลในเครือให้ระงับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก พร้อมงดจำหน่ายวัคซีนไข้เลือดออกแล้ว