วันที่ 18 ม.ค. นายสมพงษ์ กรีดกราย เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า ฐานป้องกันรักษาป่า พบ.2 (เพชรบุรี)
ร่วมกับนายสำราญ เปรมปรีย์ พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร.ท.ณรงค์ชัย แตงอ่อน หัวหน้าชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านรวมไทย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นำกำลังชุดลาดตระเวน 30 นาย ออกตรวจค้นซากกระทิงป่าเพิ่มเติม กระทั่งถึงทิศเหนือ บ่อ 7 ซึ่งเป็นสระใหญ่ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบซากกระทิงเพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี สภาพเหลือแต่หัว และเขา คาดถูกสัตว์ป่าตัวอื่นแทะกิน และเสียชีวิตมา 1 เดือน
ลักษณะซากกระทิงที่พบเป็นซากเก่า มีกระดูกแห้งกระจัดกระจาย แต่เขายังอยู่ครบ คาดตายในระยะเวลาไล่เลี่ยกับ 22 ตัวที่ผ่านมานั้น ล่าสุดจากผลตรวจของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บ ที่ทางกรมสุขภาพสัตว์และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบสารไนเตรต และเชื้อคลอสซิเดียมโนมิอาย ในตัวกระทิง ซึ่งเป็นผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการรับรองชัดเจนว่า เจอทั้ง 2 อย่างนี้ในปริมาณที่มากพอจะทำให้กระทิงตายได้ แต่ผลการค้นหาสาเหตุที่ทำให้กระทิงตายยังไม่ได้สิ้นสุด ขั้นต่อไปคือต้องหาว่าทั้งไนเตรต และคลอสซิเดียมนั้นมีที่มาที่ไปจากที่ไหนอย่างไร
ดำเนินการสอบผู้เกี่ยวข้องไปหลายปาก ซึ่งยอมรับว่ายังไม่มีความคืบหน้า หรือมีหลักฐานเพิ่มเติมว่ากระทิงถูกวางยาพิษ มีแต่ข้อสงสัยและการสันนิษฐาน สำหรับเรื่องที่มีข่าวว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมจะออกหมายเรียกผู้ต้องสงสัยว่า วางยากระทิงมาสอบปากคำนั้น ถือเป็นเรื่องปกติในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ