ยกฟ้อง สุภิญญา-ไทยโพสต์ คดีชินคอร์ป - ระบุข้อมูลเป็นประโยชน์สาธารณะ
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 15 มีนาคม 2549 14:46 น.
ศาลพิพากษายกฟ้อง สุภิญญา กลางณรงค์ และไทยโพสต์ คดี ชินคอร์ป ระบุ เป็นการให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ได้มีเจตนาใส่ความโจทก์
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลมมีคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย นายสุพจน์ วาทิตต์พันธ์ ที่ปรึกษาบริษัทในเครือชินคอร์ป ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ หรือ คปส. และ บริษัท ไทยเจอร์นัลกรุ๊ป จำกัด นายโรจน์ งามแม้น ประธานกรรมการบริหารบริษัท, นางกรรณิการ์ วิริยะกุล กรรมการบริหาร และนายทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ไทยโพสต์ เป็นจำเลยที่ 1-5 นั้น
ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบความผิดในการให้ข่าวหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ให้ข่าวว่า เอ็นจีโอประจาน 5 ปี ไทยรักไทย ชินคอร์ป รวย โดยศาลเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เอไอเอส บริษัท ชินเแชท และไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดย นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการบริษัท แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปให้เครือญาติถือครองก็ยังถือว่า มีการเชื่อมโยงอยู่ ส่วนที่จำเลยเคยศึกษาปัญหาในคดีนี้ อีกทั้งทำหน้าที่ในคปส. การที่จำเลยให้ข่าวจึงเป็นการให้ข้อมูลจากการวิจัย การศึกษา เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยสุจริต มิได้ประสงค์เพื่อให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันพึงกระทำได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้องมาตรา 329 อนุ 3 ส่วนจำเลยที่ 2-5 จะมีความผิดหรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 ติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่จำเลยที่ 2-5 นำไปตีพิพมพ์ เป็นข้อความ ไม่ได้มีการบิดเบือน ชี้ให้เห็นว่า กระทำไปโดยสุจริต ไม่ได้ใส่ความโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
ก่อนหน้านี้ บมจ.ชินคอร์ป เคยส่งให้ทนายความยื่นข้อเสนอถอนฟ้องคดี ซึ่ง น.ส.สุภิญญา ระบุว่า หลังจากที่ตน และ คปส.ร่วมกันแถลงการณ์แสดงจุดยืน และเงื่อนไขการถอนฟ้องคดีว่า ขอให้ บมจ.ชินคอร์ป ยอมรับว่า เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ คปส.มีสิทธิตรวจสอบ และมีเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็น ซึ่งชินคอร์ปยอมรับได้ในการเคารพต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป และขอให้ชินคอร์ปต้องแสดงเหตุผลการถอนฟ้องที่ชัดเจนต่อสาธารณะว่าเป็นเพราะเหตุใดแล้ว ก็ปรากฏว่า ทนายความชินคอร์ปได้แจ้งกลับมายังทนายความของตนแล้วว่าชินคอร์ปไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขของ คปส.ได้ ดังนั้น จึงยุติข้อเสนอถอนฟ้องดังกล่าวไปแล้ว
บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย นายสุพจน์ วาทิตต์พันธ์ ที่ปรึกษาบริษัทในเครือชินคอร์ป ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.), บริษัท ไทยเจอร์นัลกรุ๊ป จำกัด นายโรจน์ งามแม้น ประธานกรรมการบริหารบริษัท, นางกรรณิการ์ วิริยะกุล กรรมการบริหารด้านการตลาด และนายทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ไทยโพสต์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2546 นสพ.ไทยโพสต์ ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.สุภิญญา ที่กล่าวถึงวาระครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งพาดพิงถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่รัฐบาลออกนโยบายเกื้อหนุนธุรกิจครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลอาญาสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2548 จนกระทั่งมีคำพิพากษาในวันนี้
ส่วนความคืบหน้าและรายละเอียดคำพิพากษาจะนำมาเสนอต่อไป