เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 2 ก.พ. ที่กระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม
แถลงข่าวผลตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการประสานงานผู้เสียหาย ติดตามผลการดำเนินคดีและตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเพลิงไหม้สถานบริการซานติก้า ผับ โดยมีการเปิดเทปบันทึกภาพขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏต่อที่ใดมาประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ผลสรุปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของกระทรวงยุติธรรม สรุปว่า มีกฎหมายฉบับหนึ่งบังคับใช้เมื่อปี 47
กำหนดให้สถานบริการที่เป็น ผับ บาร์ ที่ยังไม่เคยขออนุญาตในพื้นที่โซนนิ่ง จะขออนุญาตไม่ได้
เว้นแต่สถานบริการที่เคยขออนุญาต และประกอบการมาก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีซานติก้า ผับ พบว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 46 มีนายคริสไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารหลังเกิดเหตุ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กทม. และเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า นายคริสเป็นเพียงผู้ถูกจ้างให้ไปดำเนินการและการขออนุญาต ครั้งนั้นเป็นการขอสร้างอาคารพักอาศัย ไม่ใช่ขอสร้างอาคารสถานบริการ
รมว.ยุติธรรมกล่าวต่อว่า ต่อมามีการไปขออนุญาตเปิดสถานบริการต่อสถานีตำรวจนครบาลแห่งหนึ่ง แต่ตำรวจไม่อนุญาต จึงนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 ก.พ. 47 สถานบริการแห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ ทั้งที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้อาคาร อีกทั้งอุปโลกน์นายสุริยา ฤทธิ์บรรลือ เป็น กก.ผจก.ซานติก้า ผับ ทั้งที่นายสุริยาเป็นเพียงเด็กรับรถของซานติก้า ผับ รวมทั้งมีประวัติเสพยาเสพติดด้วย นอกจากนี้ ขณะที่ซานติก้า ผับ เปิดบริการ เคยถูกจับดำเนินคดีถึง 47 ครั้ง แต่ทุกครั้งไม่มีการดำเนินคดี
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า เหตุที่ต้องขอโอนเป็นคดีพิเศษ เพราะซานติก้า ผับ มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน
ประกอบด้วย 1. ความผิดปกติในงบดุลของบริษัท กล่าวคือมีเงินสด 20 ล้านบาท เข้ามาในบัญชีโดยไม่ทราบที่มา เข้าข่ายอำนาจ ปปง. 2. ประเด็นการเก็บภาษีสรรพสามิต ไม่เคยมีการเรียกเก็บเลย อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ ตามประมวลรัษฎากร และความผิดเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต 3. จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยใช้นิติวิทยาศาสตร์ พบว่าในห้องฝ่ายบัญชี ห้องการตลาด และห้องพักนักดนตรี มีคราบเฮโรอีน และโคเคนติดอยู่ จากการขยายผลพบว่า ผับแห่งนี้มีการซื้อขายยาเสพติดกันจริง แต่จะเป็นรายใหญ่หรือไม่ต้องตรวจสอบ 4. มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่การเกิดเหตุ และ 5. มีกระบวนปลอมลายมือชื่อวิศวกร และสถาปนิกในการก่อสร้าง โดยวิศวกรคนนี้ ถูกปลอมลายเซ็นไม่น้อยกว่า 33 แห่งใน กทม.