คดีฆ่าข่มขืน นทท.อังกฤษ หมดอายุความ แต่ฆาตกรลอยนวล!
คดีฆาตกรรม น.ส.เคิร์สตี โจนส์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2543 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ผ่านมา 20 ปี คดี หมดอายุความแล้ว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ทางการไทยยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
BBC รายงานว่า "เคิร์สตี โจนส์" วัย 23 ปี เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ถูกข่มขืนและฆ่ารัดคอในเกสต์เฮาส์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งการเดินทางเที่ยวประเทศไทยเป็นหนึ่งในแผนเที่ยวรอบโลก หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ในอังกฤษ
"เคิร์สตี โจนส์" ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตภายในห้องพักในเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ โดยเจ้าของเกสต์เฮาส์พบศพในสภาพนอนคว่ำและมีผ้ารัดที่คอเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2543
"ซู โจนส์ แม่ของเคิร์สตี" บอกว่าครอบครัวโศกเศร้ามาก ที่เหตุการณ์จบลงแบบนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาครอบครัวพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทางการไทยให้ความสนใจและเร่งสอบสวนคดีของเคิร์สตี แต่ฆาตกรยังลอยนวล
มารดาของ "เคิร์สตี โจนส์" บอกว่า ความเศร้าโศกจากการสูญเสียเคิร์สตีไปเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเยียวยาได้ แต่หากจับฆาตกรได้ พอช่วยให้เราหายค้างคาใจได้บ้าง
ขณะที่ BBC ไทย รายงานเรื่องนี้ด้วย เล่าย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน "เคิร์สตี โจนส์" นักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพก ท่องเที่ยวในสิงคโปร์และมาเลเซียก่อนจะเดินทางมาที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2543 เข้าพักที่เกสต์เฮาส์แห่งหนึ่ง
คืนวันเกิดเหตุ วันที่ 9 สิงหาคม เคิร์สตีออกไปสังสรรค์และกลับมาถึงห้องพักตอนดึกนายสตีเวน ทริกก์ ซึ่งเข้าพักที่เดียวกับเธอให้สัมภาษณ์บีบีซีหลังเกิดเหตุไม่นานว่า ได้ยินเสียงผู้หญิงตะโกนว่า "ออกไป ออกไป อย่ายุ่งกับฉัน" ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. จึงเดินลงไปหาเจ้าของเกสต์เฮาส์ แต่เมื่อเสียงเงียบลง เขาและเจ้าของเกสต์เฮาส์จึงแยกย้ายกันกลับไปนอน ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าเสียงคนโต้เถียงกัน เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยตามที่พักแบบนี้
ตำรวจเชียงใหม่ สอบปากคำผู้ต้องสงสัยหลายคน รวมถึงชาวต่างชาติที่พักอยู่ที่เดียวกัน เจ้าของเกสต์เฮาส์ และไกด์นำทางชาวกะเหรี่ยง ก่อนออกหมายจับ เจ้าของเกสต์เฮาส์ในเดือนถัดมาแต่ ไม่กี่เดือนต่อจากนั้น อัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าพยานบุคคลของตำรวจไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งพบว่าดีเอ็นเอที่พบในอสุจิที่พบในศพ ไม่ตรงกับผู้ต้องหา รายงานดีเอ็นเอระบุว่าเป็นของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การสืบหาตัวคนร้ายต้องดำเนินต่อ
ปี 2548 คดีของ "เคิร์สตี โจนส์" โอนให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับผิดชอบ มีการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมแต่ก็ยังไม่พบผู้ที่มีดีเอ็นเอตรงกับหลักฐาน
ในปีเดียวกันนั้นนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพูดคุยระหว่างหารือกับ อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อขอให้ไทยเร่งติดตามคดี
เมื่อปี 2555 แม่ของ "เคิร์สตี โจนส์" ประกาศมอบ 400,000 บาท ให้กับผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับคนรา้ย ในปีถัดมากองตำรวจไดเฟด-พาววีส์ (Dyfed-Powys) ของเวลส์ระบุว่าได้รับอนุญาตให้ทบทวนหลักฐานทางนิติเวชและเอกสารที่เจ้าหน้าที่ไทยรวบรวมได้ แต่การสืบสวนอันยาวนานที่รวมถึงการสอบพยานไม่ต่ำกว่า 70 ปาก ก็ยังไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้
เจ้าหน้าที่กองตำรวจไดเฟด-พาววีส์กล่าวว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทยก็ได้ปิดคดีแล้ว นั่นหมายความว่าการสอบสวนได้ยุติลงอย่างถาวรแล้ว