เปิดคำพิพากษา คดีเสี่ยเบนซ์ ทำไมจึงให้โอกาสกลับตัวอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 63 ศาลอาญาตลิ่งชันได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1839/2562 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2284/2562 ระหว่าง พนักงานอัยการสูงสุด (อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี5) เป็นโจทก์ ฟ้อง นายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ จำเลย ข้อหา "ขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ฯ
คดีนี้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตลิ่งชันเดิม) พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.291, 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม.43 (2) (4) , 67 วรรคหนึ่ง ,152 ,157, 160 ตรี วรรคสาม วรรคสี่ อันการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก 6 ปี และปรับ 200,000 บาท โดยจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี พร้อมปรับ 100,000 บาท
รวมทั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย และสั่งห้ามจำเลยดื่มสุรา-เบียร์ หรือเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิดด้วย อย่างไรก็ตามศาลพิเคราะห์ตามรายงานสืบเสาะแล้วโทษจำคุกจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี กับทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ มีกำหนด 48 ชั่วโมง ภายเวลา 1 ปี ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด
ต่อมาวันที่ 26 ก.ค.62 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ เนื่องการเมาแล้วขับในประเทศมีอัตตรารุนแรงเพิ่มขึ้น รัฐต้องสูญเสียทรัพยากรและทรัพย์สินในการบริหารจัดการต่างๆ อีกทั้งเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนาน และจำเลยเป็นคนที่มี มีฐานะดี หากรู้ตัวว่าเมาสุราแล้วย่อมมีศักยภาพในการกลับบ้านด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่การขับรถยนต์ในขณะมึนเมาและขับด้วยความเร็วเกินกำหนดจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง การกระทำของจำเลยจึงไม่ควรรอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า แม้เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยเมาสุราขณะขับรถโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยซึ่งจำเลยไม่ค้านว่าจำเลยนั่งดื่มเบียร์ตั้งแต่เวลา 19.00-23.00น.และตามฟ้องว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กม.จำเลยไปร่วมงานศพของผู้ตายทั้งสองและร่วมทำบุญในการปลงศพ 3 แสนบาท ชดใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะให้แก่มารดาของผู้ตายที่ 1 จำนวน 2ล้านบาท และมารดาของผู้ตายที่ 2 จำนวน 1.9ล้านบาท ชำระหนี้สินของผู้ตายที่ 1 เป็นเงิน 2ล้านบาท ซื้อรถยนต์ใหม่ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ราคา1.5ล้านบาท ทดแทนรถคันเดิมที่ประสบอุบัติเหตุ
มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรของผู้ตายทั้งสองคนละ 15 ล้านบาท บุตรทั้งสองของผู้ตายผู้ปกครองล้วนแถลงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำของตนเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษ จำคุกมาก่อนมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว การรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมยิ่งกว่าการลงโทษจำคุกจำเลย โดยเป็นการให้โอกาสจำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองดีอุปการะดูแลบุตรของผู้ตายทั้งสองและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
ดังที่จำเลยแก้อุทธรณ์มาคำพิพากษาที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในคดีดังกล่าวนั้น มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่มีการบรรเทาผลร้ายในการกระทำของจำเลยจนเป็นที่พอใจแก่ฝ่ายผู้ตายดังเช่นคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเครดิตแหล่งข้อมูล : khaosod