เรื่องเล่าจากห้องฉุกเฉิน ภารกิจชีวิตของเจ้าหน้าที่นับร้อยที่ รพ.มหาราชฯ
พวกเขา คือ ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ส่วนต่าง ๆ ในโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา โรงพยาบาลหลักที่รับตัวผู้บาดเจ็บ ซึ่งในช่วงที่ผ่านเราไม่ได้ยินเรื่องราวของพวกเขามากนัก
"พวกผมรีบไปช่วยที่ ER (ห้องฉุกเฉิน) เดินผ่านจุดรอญาติหลัง ER เสียงร้องไห้ดังระงมไปหมด บางคนกรีดร้องลงไปนอนที่พื้น ผมยอมรับว่าตอนนั้นใจเสียมากแต่ต้องทำหน้าที่ต่อไป..." บางส่วนของบันทึกจากหนึ่งในทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในคืนที่ยากลำบากของชาวโคราช
"ไม่ใช่แล้ว เป็นเหตุกราดยิง..."
วันเสาร์ที่ 8 กุมภาฯ หมออาร์ม เข้าเวรวันหยุดตั้งแต่ 8 นาฬิกา โดยเป็นเวรแพทย์ประจำบ้าน (R2) แพทย์ประจำบ้าน คือ แพทย์ที่ศึกษาจบแล้วแต่มาเรียนต่อเฉพาะทาง สำหรับหมออาร์ม หลังเรียนจบได้เป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ 1 ปี และตอนนี้ก็ศึกษาต่อเฉพาะทางในชั้นปีที่สอง
วันนั้นเขาอยู่ในทีมผ่าตัดทั่วไป โดยมีทีม Trauma (ทรอมา) หรือทีมผ่าตัดเคสอุบัติเหตุแยกเป็นอีกทีมหนึ่ง หน้าที่เวรของเขาจะไปสิ้นสุดที่ 8 นาฬิกาของอีกวัน
ห้าโมงเย็นหมออาร์มมีกำหนดต้องเข้าผ่าตัดคนไข้ แต่พอราวสี่โมงครึ่ง เมื่อแพทย์วิสัญญีเริ่มดมยาคนไข้ที่เขากำลังจะผ่าตัด กลุ่มไลน์ทีมแพทย์ผ่าตัดอุบัติเหตุ ได้รับแจ้งว่า มีเหตุยิงกัน มีเสียชีวิต และสาหัส 2-3 ราย กำลังนำส่ง
ทุกคนในทีมหมอรับรู้ข่าวจากสื่อพร้อม ๆ กับคนทั่วไป จากรูป คลิป ต่าง ๆ พวกเขาเริ่มตระหนักได้ว่าเหตุนี้ไม่ธรรมดาแล้ว หมออาร์มต้องผ่าตัดคนไข้รายนั้นต่อ ห้วงขณะนั้นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านตัดสินใจทันทีที่จะส่งแพทย์ไปช่วยทีมผ่าตัดอุบัติเหตุ
เมื่อข่าวสารเริ่มกระจายออกไป ครอบครัวติดต่อมาตั้งแต่ข่าวออกแรก ๆ หมออาร์มรับโทรศัพท์แม่จากกรุงเทพฯ และตอบสั้น ๆ ว่า "อยู่ในเคส (ผ่าตัด) เดี๋ยวทำงานต่อไม่ต้องห่วง"
ระดมทีมอย่างรวดเร็ว
ระหว่างนั้นผู้บริหารโรงพยาบาลประสาน "ทรอมาทีม" ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร มีแนวโน้มต้องผ่าตัดเยอะหรือไม่ หลังจากนั้นชั่วอึดใจ โรงพยาบาลก็ประกาศแผนเผชิญอุบัติภัยหมู่ ( multiple casualties ) ทันที
"พอประกาศแผนแล้ว ก็ดำเนินการตามที่เคยซักซ้อมกันมา... มีการระดมทีมอย่างรวดเร็ว เกิดเหตุไม่นานทีมพร้อม ห้องผ่าตัดพร้อมก่อนที่เคสแรกจะมาถึง" หมออาร์มเล่า
ทุกแผนกในโรงพยาบาลเตรียมพร้อม ทั้งทีมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ทีมเยียวยา ทีมห้องผ่าตัด ทีมบนวอร์ด ไอซียู ทีมคัดกรอง รวมทั้งห้องผ่าตัด 4 ห้องที่จะรับไม้ต่อจากห้องฉุกเฉิน ทุกคนเข้าพร้อมประจำหน้าที่ ในส่วนของทีมพยาบาลในห้องผ่าตัดถูกเสริมเข้ามาเป็น 20 คน และสแตนบายอีก 8 คน
เฉพาะแพทย์ทีมผ่าตัด ช่วงเวลาตั้งแต่คืนวันที่ 8 จนถึงวันที่ 9 ใช้กำลังแพทย์ 15-20 คน เมื่อรวมทีมแพทย์จากทุกส่วน เช่น แพทย์ในห้องฉุกเฉิน ตามแผนเผชิญเหตุนี้ มีหมอในคืนนั้นกว่า 50 ชีวิต
"ทุกคนกังวลเข้ามาใกล้โรงพยาบาลหรือเปล่า เพราะประตูหลังมีซอยออกไปหน้าเทอร์มินอลประมาณหนึ่งกิโล" ความกังวลส่วนนี้ทำให้มีการสั่งการกำชับกำลัง รปภ. บริเวณประตูทางเข้าทุกด้าน
เชื่อมั่นในทีม
สภาพจิตใจของคนติดตามข่าวคืนนั้นเชื่อว่าหดหู่กับข่าวที่ออกมาเป็นระยะ ๆ เราถามว่าในใจเขาตอนผ่าตัดคนเจ็บรายแรกเขาคิดอะไร นายแพทย์หนุ่มลังเลอยู่ชั่วอึดใจในการไตร่ตรองคำตอบก่อนบอกว่า
"ในมุมมองของหมอ ความยากง่ายในห้องผ่าตัดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หมอผ่าตัดไม่ได้ทำงานคนเดียว เราทำงานเป็นทีม ผมเป็นตัวเล็ก ๆ ในทีม"
เขาว่า ผู้บาดเจ็บแต่ละคนคืนนั้นใช้หมอหลายคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ารับมือกับคนเจ็บ แต่ละทีมมีอาจารย์หมอช่วยดูแล ปกติจะมีอาจารย์แค่คนเดียว แต่พอประกาศแผน อาจารย์ท่านอื่นที่อยู่ในโรงพยาบาลก็รีบมาช่วย รวมทั้งแพทย์ประจำบ้านปีสูงที่กำลังจะจบ ออกมาช่วยกันหลายคน
นอกจากนี้ยังมีน้องนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายที่แม้ไม่ได้อยู่ในแผนแต่ได้อาสาเข้ามาช่วยหน้างานด้วย
"ผมไปถึงห้องฉุกเฉิน เห็นอาจารย์เห็นพี่มา เราก็อุ่นใจว่าเคสยากขนาดไหน เราเชื่อมั่นในตัวอาจารย์ ในตัวทีมว่าทำได้แน่นอน"
หัวใจด่านแรก และบาดแผลจากอาวุธหนัก
ส่วนตัวเขามองว่า ความยากที่สุด คือ ในห้องฉุกเฉิน ที่ต้องประเมินคนไข้ คนบาดเจ็บคืนนั้นเข้ามาพร้อมกัน หลาย ๆ คน เป็นความยากที่ต้องแข่งกับเวลา
"ทีมพยาบาลทำงานรวดเร็วมาก มีสติ ไม่มีใครตื่นตกใจเลย ผมว่าทุกคนตกใจ เครียดเสียขวัญ แต่ว่าทุกคนเก็บไว้ ช่วยกันเต็มที่"
หัวใจสำคัญ คือผู้สั่งการเหตุ เขาได้มอบคำชื่นชมให้ "อาจารย์มด" แพทย์หญิงอาจารย์หมอฉุกเฉินที่ "เด็ดขาด" นั่นทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ
"ในห้องผ่าตัดใช้คนเยอะแล้ว ในห้องฉุกเฉินยิ่งใช้คนมาก คนไข้เข้ามาคนหนึ่ง ทีมพยาบาลต้อง เข้าไป (ดูแล) 3-4 คน แพทย์ผู้สั่งการเหตุจะแจกเคส อันนี้ขอคนนี้เป็นหัวหน้าทีม แล้วหมอจะมาดึงน้องไป ฟอร์มทีมเข้าไปจัดการคนไข้"
ความหนักอึ้งของช่วงเวลาอันยาวนานในเหตุการณ์นี้ คือ ผู้บาดเจ็บที่ถูกยิงด้วยอาวุธหนัก
"ตามตำราตะวันตก บอกไว้แบบหนึ่ง พออันนี้เป็นอาวุธสงครามหลายอย่างมันไม่ตามตำรา มันต้องตัดสินใจกันหน้างานตามประสบการณ์ของอาจารย์ ผ่าตัดเข้าไปหลายเคสคือ อวัยวะข้างในเสียหายเยอะ วิถีกระสุนควงสว่านและแรง โดนหลายอวัยวะ"
"คนตรงหน้าเราสำคัญที่สุด"
เวลาแต่ละชั่วขณะในคืนนั้นถูกใช้สอยไปกับการช่วยผู้บาดเจ็บเบื้องหน้า ข่าวความเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉิน ทีมแพทย์พยาบาล ได้ยินได้ฟังจากกู้ภัย และทีมหน้าด่านเป็นหลัก หมออาร์ม บอกข้อความสำคัญที่อาจารย์หมอทุกคนสั่งสอนมาตลอดว่า "คนตรงหน้าเราสำคัญที่สุด"
"คนไหนที่เหนื่อยที่ท้อ หรือมีเหตุอะไรก็ตาม ยังมีคนที่อยู่ตรงหน้าเรา เรามีหน้าที่ช่วยเขา ถ้าเราไม่ช่วยไม่ทำ ไม่มีใครทำแทนเราได้ แต่คนของเราที่อยู่ตรงโน้น ก็มีคนที่มีหน้าที่ช่วยเหลือ ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วแผนก็จะไปได้"
"ตอนแรกผมคิดว่าอาจารย์ไม่น่าจะไหวแล้ว แต่พอตีสอง อาจารย์หมอท่านนั้นก็กลับมา ผมก็ถามว่าอาจารย์เป็นไง ไม่กลับไปดูลูกเหรอ แกบอกว่าไปดูมาแล้ว ส่งลูกเข้านอนแล้ว มีเคสค้างอยู่ที่จะต้องผ่าตัดต่อ"
เมื่อคนเจ็บที่ส่งเข้ามา คือใบหน้าของคนรู้จัก
หมอหนุ่มเล่าว่า กว่า 9 นาฬิกา สัญญาณแจ้งเตือนกลุ่มแพทย์ผ่าตัดอุบัติเหตุโรงพยาบาลเตือนถี่ขึ้นอีกครั้ง อันเป็นเวลาที่เริ่มมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ผู้ก่อเหตุได้แล้ว ทว่าในช่วงเวลาเช้านั้นเอง ที่ผู้บาดเจ็บรายหนึ่งที่ถูกส่งตัวเข้ามา คือ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ทีมแพทย์รู้จักคุ้นเคยดี
"เห็นแกตอนที่กำลังจะเข้าห้องผ่าตัด กระทบจิตใจผมพอสมควร เราไม่คิดว่าเป็นพี่เค้า" เขาหยุดที่ตรงนั้นและปล่อยให้สีหน้าและแววตาพูดกับเราต่อ
ไม่มีอะไรเสียใจ
ในฐานะหมอ เขาบอกว่า คนไข้ทุกคนสำคัญเท่ากันหมด ไม่ว่าจะมาด้วยเหตุการณ์อะไร ฉุกเฉินไม่ฉุกเฉิน ไม่ว่าคนไข้จะใช้สิทธิ์อะไร แต่กับเหตุการณ์นี้ ในฐานะคนธรรมดา เขายอมรับว่า "มีหลายอารมณ์ความรู้สึก" เสียใจและสลดใจ เพราะความสูญเสียเยอะ
หากย้อนเวลาได้กลับไปคืนนั้นได้ หมออาร์มบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะเสียใจ ทีมทำเต็มที่ทั้งแรงกาย ใจ สติปัญญา ใช้ทุกทรัพยากรที่มี แต่ก็มีจุดที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในหลาย ๆ จุด ซึ่งคงต้องมาถอดบทเรียนกันต่อไป ตามปกติก็มีการทบทวนการทำงานแบบสหวิชาชีพอยู่แล้วเป็นประจำทุกสัปดาห์ใน Trauma conference และการประชุมกลุ่มย่อยอื่น ๆ
"เราไม่มีอะไรที่คิดว่าเราจะเสียใจในเหตุการณ์ที่ผ่านมา หรือว่ามีอะไรที่เราไม่ได้ทำ" เขากล่าว
"ขอบคุณทุกฟันเฟือง ทุกหน้าที่ในโรงพยาบาล หมอ พยาบาล เภสัช ทีมเทคนิคการแพทย์ ห้องแล็บห้องเลือด เจ้าหน้าที่เวรเปล คนงานต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ยามรักษาการณ์ มีส่วนช่วยหมด" หมออาร์มทิ้งท้าย