คุกคามสื่อ พันธุกรรมชั่วผู้มีอำนาจ
โดย ผู้จัดการรายวัน 11 เมษายน 2549 08:59 น.
ชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแทรกแซงและคุกคามสื่อของผู้มีอำนาจได้พัฒนาไปสู่การเข้าซื้อกิจการสื่ออย่างเปิดเผย การปิดกั้นทางธุรกิจด้วยงบโฆษณา หรือการฟ้องดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง บางคดีถูกเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท แตกต่างจากในอดีตที่ใช้อำนาจมืดที่แฝงมากับอิทธิพลของฝ่ายรัฐเข้าปิดโรงพิมพ์ ยึดแท่นพิมพ์ หรือทำร้ายชีวิต
แต่หลังการเมืองเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ดูเหมือนการคุกคามสื่อได้พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการใช้กลุ่มพลังมวลชนเข้าคุกคามข่มขู่สื่อ โดยมีอำนาจมืดแฝงตัวคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
ดังกรณี ขบวนมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายร้อยคนเดินทางไปรวมตัวกันหน้าสำนักงานเครือผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์แนวหน้า พร้อมกับนำพวงหรีดประท้วงและเผาทำลาย บางส่วนถึงกับแสดงอาการข่มขู่ ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสำนักงานของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว
และเหตุการณ์ม็อบคารานคนจนปิดล้อมทางเข้า-ออกของสำนักงานหนังสือพิมพ์ เครือเดอะเนชั่น คมชัดลึก เป็นเวลานานกว่า 7 ชั่วโมง โดยห้ามบุคคลไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทต่างๆ ผู้ป่วยและหญิงตั้งครรภ์ เข้า-ออก
*สื่อกับหน้าที่กระบอกเสียงของประชาชน
สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) กล่าวว่าปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองบีบให้สื่อแสดงบทบาทที่มีความแหลมคมมากขึ้น เปลี่ยนจากการทำหน้าที่เสนอข่าวให้ข้อเท็จจริงมาเป็นผู้ขับเคลื่อนทางการเมือง
"สะท้อนให้เห็นความท้าทายของสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อทางเลือก ขณะที่รัฐบาลไม่พอใจการทำหน้าที่ดังกล่าว นำไปสู่การสกัดตอบโต้ แต่หนังสือพิมพ์ค่อนข้างคุมลำบากและพยายามทำหน้าที่ของตนเต็มที่ทำให้ผู้มีอำนาจหมดความอดทนเรื่อยๆ ขณะที่สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลัก เป็นกระบอกเสียงของรัฐ ไม่ออกจากการครอบงำ คนกลับไม่มอง"
การนำเสนอข่าวสารของสื่อปัจจุบัน อาจมีผู้รับสารบางกลุ่ม มองว่าเนื้อหาที่นำเสนอเป็นการคุกคามประชาชน ตรงนี้สุภิญญามองว่าท้ายสุดประชาชนผู้รับสารจะเป็นฝ่ายตัดสินใจอ่านหรือไม่อ่านข่าวนั้นๆ
"มีคำถามเกิดขึ้นว่าสื่อไม่เป็นกลาง ไม่เอารัฐบาล เราต้องให้ความเป็นธรรมกับสังคม เรียนรู้ว่าสื่อปรับบทบาทของตัวเอง สื่อก็ต้องฟังสังคมเหมือนกัน แต่ก็มีเส้นแบ่ง เช่น เนชั่น ผู้จัดการ มีบทบาทโดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ แต่ถ้าไปดูสื่ออื่นนำเสนอข่าวรัฐบาลครึ่งหนึ่ง ประชาชนครึ่งหนึ่ง ถือว่าเป็นพัฒนาการของสื่อนิยมประชาธิปไตย ถ้าสื่อมีจุดยืนชัด ประชาชนจะรู้ว่าสื่อนั้นเป็นอย่างไร ท้ายสุดประชาชนจะเป็นคนเลือกว่าจะซื้ออ่านหรือไม่ ตราบใดที่สื่อยังไม่ก้าวไปเล่นการเมืองโดยตรง คิดว่าการนำเสนอแบบนี้ยังโอเค เป็นการสะท้อนเสียงประชาชนกลุ่มหนึ่ง เป็นเสียงภาคประชาชน สังคมที่ไม่ใช่การเมือง ซึ่งยังดีกว่าสื่อวิทยุ โทรทัศน์ คนดูคิดว่าเป็นช่องดูข่าว เชื่อถือได้ แต่แท้จริงถูกคุมโดยรัฐ วิญญาณเป็นกระบอกเสียงของรัฐ"
ขณะที่เทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่นกล่าวว่า "ถ้ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อไปคุกคามใครหรือเปล่า ก็คงต้องดูตัวเองว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร เพราะว่าสื่อถูกกล่าวหามาโดยตลอด และในการกล่าวหาบางครั้งอาจจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง อาจจะเลินเล่อ หรือไม่ได้ตั้งใจ หรือบางส่วนอาจจะตั้งใจ แต่ก็คงเป็นส่วนน้อย ในการรายงานข่าวที่อาจจะเข้าข่ายว่าไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ตกเป็นข่าวหรือเปล่า"
"นี่คงเป็นสิ่งที่สื่อจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะการที่สื่อลุกขึ้นมาปกป้องสื่อด้วยกันเอง และต่อสู้กับการถูกคุกคามจากฝ่ายการเมือง ในขณะเดียวกันสื่อก็ต้องให้ความมั่นใจกับคนในสังคมด้วยว่าสามารถดูแลกันเองได้ และพร้อมที่จะฟังเสียงท้วงติง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมด้วย ในกรณีที่สื่ออาจจะล้ำเส้นหรือกรณีที่ถูกมองว่าละเมิดจริยธรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า"