เปิดรายงาน ปี 62 คนจนลดลง เผยอันดับ 10 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ


เปิดรายงาน ปี 62 คนจนลดลง เผยอันดับ 10 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำปี 2562 พบว่าสัดส่วนคนยากจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจนระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.63 ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.88 ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือร้อยละ 6.24 ในปี 2562

สำหรับสถานการณ์ความยากจน 5 ปี (ปี 2558 - 2562) พบว่าสัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก


นางสาวจินางค์กูร กล่าวว่า ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่าอาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา ทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนนปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนระยะหลัง พบว่าครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ มีการพึงพิงสูงโดยมีเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมากในครัวเรือน และจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า
อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตรซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย

สำหรับการปรับตัวลดลงของคนจนปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลเปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (พ.ค.-มิ.ย.61) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรอบก่อนหน้า โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 - 300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้งคนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

เปิดรายงาน ปี 62 คนจนลดลง เผยอันดับ 10 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

ขอเรียนว่าการนำเสนอสถานการณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูล สำนักงานฯ ยึดหลักวิชาการ และความถูกต้องเป็นหลัก เพื่อสะท้อนผลการพัฒนาที่แท้จริงสู่ประชาชน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมพบว่า ครัวเรือนยากจนในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.04 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับ 1.85 ล้ำนครัวเรือน หรือร้อยละ 7.64 ในปี 2561 ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ความยากจนจะมีความผันผวนในบางช่วงเวลา แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องสะท้อนแนวโน้มที่ดีขึ้นของสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย

ทั้งนี้ สัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด เมื่อพิจารณาความยากจนในระดับจังหวัด พบว่า ในปี 2562 ปัญหาความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด ยกเว้น 9 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนยากจนเพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เลย และสตูล

อยา่งไรก็ตาม จังหวัดดังกล่าว เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือ ไม่เกินร้อยละ 16 ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับ พบว่าสัดส่วนคนจนปรับลดลงมาก โดยจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นจังหวัดยากจนที่สุดในประเทศไทยมีสัดส่วนคนจนเท่ากับร้อยละ 29.72 ในปี 2562 ซึ่งแม้ว่าจะมีปัญหาความยากจนสูงสุด แต่สัดส่วนคนจนลดลงมากจากร้อยละ 39.27 ในปี 2561 รองลงมาได้แก่ จังหวัดนราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก กาฬสินธุ์ สระแก้ว พัทลุง ชัยนาท อ่างทอง และระนอง ตามลำดับ

ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (ร้อยละ 0.24) รองลงมาคือ ปทุมธานี (ร้อยละ 0.24) ภูเก็ต (ร้อยละ 0.40) สมุทรปราการ (ร้อยละ 0.56) และ กทม. (ร้อยละ 0.59)

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ มีเขตพื้นที่ติดกับชายแดน/ชายฝั่ง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ปัตตานี นราธิวาส ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อย เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หรือมีพื้นที่ติดกับศูนย์กลางความเจริญ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปรการ

เมื่อพิจารณา รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) กับสัดส่วนคนจน จะพบว่า จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เป็นจังหวัดที่มีความยากจนสูง โดยความสัมพันธ์ของรายได้กับสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ สัดส่วนคนจนจะลดลงมากเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงแรก และจะน้อยลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไปในระดับหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหากยกระดับเศรษฐกิจให้กับจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ อาจช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับจังหวัดนั้นอย่างมาก หรือการกระจายศูนย์กลางความเจริญไปยังเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค่า การลงทุน อาจเป็นกลไกที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับรายได้ของประชากรในจังหวัดยากจนให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

เปิดรายงาน ปี 62 คนจนลดลง เผยอันดับ 10 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ


เปิดรายงาน ปี 62 คนจนลดลง เผยอันดับ 10 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ

ชมคลิป
VVV
VV
V
VV
V
V
V
VVVV


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์