โชว์เหี้ยดำสัตว์หายากชนิดใหม่ที่พบในไทย
โชว์"เหี้ยดำ"สัตว์หายากชนิดใหม่
สวนสัตว์นครราชสีมา เชิญชวนประชาชนเข้ามาชมสัตว์ตระกูลเหี้ยในประเทศไทย
พร้อมเปิดตัว"เหี้ยดำ"พระเอกในงาน หายากมากที่สุดและเป็นชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย แนะประชาชนเข้ามาชม ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
นายบัญญัติ อินทร์สุวรรณ์ ผอ.สวนสัตว์นครราชสีมา กล่าวว่า
จากการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันทำให้เกิดการรุกล้ำถิ่นอาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด ชนิดหนึ่งคือสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ จำพวก งู ตะกวด เหี้ย ซึ่งปรากฏบ่อยครั้งว่าหลงเข้าไปในเขตบ้านพักอาศัยของคน จึงแตกตื่นกันไปทั่ว โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกันภาคอีสานก็มีสัตว์ตระกูลเหี้ย
อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเป็นสัตว์ธรรมดาที่พบเห็นได้กันทั่วไป ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันผู้คนก็จะหลงลืมว่าเหี้ยก็เป็นสัตว์น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง
ดังนั้นสวนสัตว์นครราชสีมา
จึงเชิญชวนประชาชนเข้ามาชมสัตว์ตระกูลเหี้ยในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ เหี้ยดำ ตะกวด เห่าช้าง และ ตุ๊ดตู่ จะได้เห็นหน้าว่าสัตว์ในเมืองไทยเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ก็เป็นสัตว์ป่าหายากที่ กำลังอยู่ระหว่างการอนุรักษ์ไว้ด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงอยากให้พบเหี้ย ตะกวด เห่าช้าง และ ตุ๊ดตู่ ได้ทุกวันที่ส่วนจัดแสดงสัตว์เลื้อยคลาน แล้วท่านจะรู้ว่า สัตว์ตระกูลเหี้ย มีชีวิตน่าสนใจและไม่อันตรายแต่ประการใดเลย
นายกีรติ กันยา ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลาน
สวนสัตว์ นครราชสีมา เปิดเผยว่า เหี้ยดำ เป็นเหี้ยชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย ค้นพบโดย นาวาเอกวิโรจน์ นุตตพันธ์ เหี้ยดำ เป็นเหี้ยชนิดที่หายากมากที่สุด มีชื่อสามัญ Black Moniter ชื่อวิทยาศาสตร์ Varanus Salvayor komaini Nutphand มีเพียง 8 ตัวเท่านั้น
ที่อยู่ในองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์
ตอนนี้ในสวนสัตว์นครราชสีมามีอยู่ 6 ตัว และไข่เหี้ยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนฟัก 8 ฟอง เหี้ยดำมีลักษณะความยาวลำตัว 110 ซม. ลำตัวสีดำด้านไม่มีจุด ท้องสีเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง ตัวเมียจะโตกว่าตัวผู้ อายุไขประมาณ 80 ปี
ชอบนอนผึ่งแดดตอนเช้า วางไข่ช่วงเดือน กค.-สค. ไข่ขนาดเท่าไข่ไก่ จะฝังดินรักษาไข่ไว้ ถิ่นอาศัยจะพบเฉพาะบริเวณชายทะเล ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ลงไป ถึงประเทศมาเลเชีย อินโดนิเชีย กินอาหารจำพวก นก กบ เขียด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก หรือซากสัตว์
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก