ใครว่าทักษิณตายแล้วยกมือขึ้น

ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของคนไทยผ่านพ้นไปแล้วด้วยเสียงตอบรับ 57.81 % ไม่รับ 42.19 % ในขณะที่ภาคอีสาน มีเสียงตอบรับเพียง 37.30 % ไม่รับถึง 62.69 % ส่วนภาคเหนือ เสียงตอบรับ 53.68 % ชนะเสียง

สำหรับผมแล้วเสียงตอบรับขนาดนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เพราะการลงประชามติครั้งนี้มีการรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่อีกฝ่ายได้แต่รณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ โดยที่ฝ่ายล้มร่างรัฐธรรมนูญที่ประสานกันระหว่างเครือข่ายนิธิกับเครือข่ายทักษิณมีความกระตือรือร้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้เงินมหาศาลในการทำแคมเปญล้มร่างรัฐธรรมนูญ และอำนาจเก่าโกหกหลอกลวงสารพัด

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้ไม่รับ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ถือเป็นเรื่องที่ดีในวิถีของระบอบประชาธิปไตย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่า เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารที่ตั้งองค์กรขึ้นมาไม่กี่วัน เอาเงินมาจากไหนนับสิบล้านบาทมาใช้ในการทำงาน

ผลการลงประชามติครั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาที่หลากหลาย บางคนบอกว่าคะแนนตอบรับขนาดนี้ถือว่าดีแล้ว ถ้ามากเกินไป คมช.จะเหลิงอำนาจ บางคนบอกว่า น้อยเกินไป บางคนบอกว่า แม้จะชนะ แต่ก็ถือว่ารัฐบาลและคมช.พ่ายแพ้เกมลงประชามติครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างไปตามมุมมอง จุดยืน และทัศนคติของแต่ละคน

ผมได้ยินปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญว่า ผู้ที่เห็นชอบส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบทักษิณ ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นชอบแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจ คมช. ไม่สบายใจกับการยึดอำนาจ และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เกรงว่าหากเสียงเห็นชอบมากเกินไป คมช.จะสามารถนำไปอ้างภายหลัง เช่นเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำในอดีต จึงแสดงออกด้วยการไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ

อ่านแล้วก็นึกในใจว่า จริงหรือว่ะ กับการแยกแยะเสียงการลงประชามติแบบนี้ พอคิดแล้วไม่เชื่อ ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อาจารย์ปริญญาท่านเชื่อของท่านอย่างนี้จริงหรือครับ

เห็นชอบ = ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข + กลุ่มที่ไม่ชอบทักษิณ

ผมว่าอันนี้โอเคนะครับพอทนฟังได้ แม้ว่าผมจะอยากเถียงว่า น้ำหนักคนที่เห็นชอบน่าจะอยู่ที่คนไม่ชอบทักษิณมากกว่ากลุ่มที่ต้องการทำให้บ้านเมืองสงบก็ตาม

ไม่เห็นชอบ = ส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจ คมช. +ไม่สบายใจกับการยึดอำนาจ +ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

อันนี้ผมไม่เชื่อครับ ว่า คนภาคเหนือตอนบน และคนอีสานส่วนใหญ่จะลงประชามติไม่เห็นชอบด้วยมุมมองที่อาจารย์ปริญญายกมา เพราะผมให้น้ำหนักที่ว่า ประชามติไม่เห็นชอบในพื้นที่นี้เพราะคนยังคงนิยมชมชอบในตัวพ.ต.ท.ทักษิณกับการรณรงค์ให้ไม่รับด้วยการบิดเบือนข้อมูลมากกว่า

ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ไม่เห็นชอบ = ส่วนใหญ่ยังนิยมพ.ต.ท.ทักษิณ + รับข้อมูลที่บิดเบือน

ส่วนไม่ไว้ใจ คมช.ไม่สบายใจกับการยึดอำนาจ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารนั้นก็มีครับ แต่คงเป็นส่วนน้อย เปอร์เซ็นต์อาจจะสูง (คงจะไม่มากนัก) ในเขตเมือง และต่ำมากในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน ผมเชื่อของผมอย่างนี้ มองอย่างชาวบ้าน อาจจะผิด ใครจะเชื่อและมองอย่างท่านด็อกเตอร์ปริญญาซึ่งอาจจะถูกก็ตามใจนะครับ

ผมยังเชื่อเหมือนกับที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยอมรับว่า ผลคะแนนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สูงกว่าเห็นชอบในหลายจังหวัด วิเคราะห์ได้ว่า ประชาชนยังนิยมและชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ และนโยบายของพรรคไทยรักไทยอยู่มาก

แต่สำหรับพรรคพลังประชาชน เพื่อความสบายใจของพวกท่าน ผมแนะนำให้เชื่ออย่างที่ผมเชื่อเช่นกันว่า คนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบเพราะยังรักทักษิณ อย่างน้อยก็เป็นการปลอบใจตัวเองว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพื้นที่ไหนบ้างที่ยังปลอดภัย

อย่าไปสร้างตรรกะเพื่อหลอนตัวเอง การปลอบใจตัวเองบางครั้งก็ดี แต่อย่ายึดติดต้องหันกลับไปมองที่ความเป็นจริง เหมือนที่ทักษิณบอกว่า คะแนน 10 ล้านเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ บ่งชี้ว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับ คมช.และรัฐบาล แต่ตอนที่ทักษิณถูกเสียงโนโหวต 10 ล้าน ทักษิณก็จะอธิบายไปอีกแบบ

ผมได้ยินวาทะแบบสร้างตรรกะหลอนตัวเองโดยเฉพาะนักวิชาการว่า คนส่วนใหญ่รับร่างเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ คนไม่รับร่างเพราะไม่ชอบเผด็จการ ทั้งที่ความจริงแล้วก็คือการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่เอาทักษิณกับไม่เอาทักษิณนั่นเอง

นักวิชาการบางคนที่คัดค้านร่างรัฐประหาร พยายามเชื่อว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญไม่ดี เพียงแต่เขาจำใจรับ และที่ไม่รับเพราะไม่ชอบรัฐประหาร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเราคงต้องวิเคราะห์กันขนาดใหญ่แล้วว่า ทำไมคนอีสานและคนภาคเหนือตอนบนที่เชื่อฟังนักวิชาการมากกว่าคนในเขตเมือง (ความเป็นเมือง) และเราจะอธิบายอย่างไรว่า ในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเครือข่ายนิธิออกมารณรงค์ขนาดใหญ่นั้น มีเสียงเห็นชอบมากกว่าไม่เห็นชอบ

หรือว่า ความเห็นของนักวิชาการเข้าหูเข้าตาเข้าถึงชาวบ้านมากกว่าคนในเมือง หรือเพราะความเห็นของนักวิชาการไม่น่าเชื่อถือสำหรับคนในเมือง

แต่สำหรับผมแล้วบอกตรงๆ นะครับ ผมไม่ได้ยินนักวิชาการให้เหตุผลที่เพียงพอที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเลย นอกจากเหตุผลน้ำเน่าว่า การสนับสนุนรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาไม่ชอบจะเป็นการสนับสนุนการรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญเท่ากับล้มรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เราเป็นแบบพม่าและฟิลิปปินส์ ทำให้การเมืองอ่อนแอ หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ระบอบอมาตยาธิปไตยเติบใหญ่

เพราะสิ่งที่มองเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น เมื่อการเมืองภาคประชาชนเข้มแแข็งขึ้น เราจะไปห่วงทำไมถ้าการเมืองภาคนักเลือกตั้งจะอ่อนแอลง เราจะไปกลัวทำไมว่า ระบอบอมาตยาธิปไตยจะฟื้นขึ้นมาจากหลุม เราจะไปกลัวทำไมว่า ทหารจะรัฐประหารอีกถ้านักการเมืองไม่ฉ้อฉล เพราะถ้านักการเมืองฉ้อฉล รัฐธรรมนูญเขียนไว้ดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ไม่เช่นนั้นแล้วทหารจะทำรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ได้อย่างไร

ระบอบอมาตยาธิปไตยภายใต้การนำของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่การจำหลักฝังรากลึกในระบอบการเมืองไทย เพื่อไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่สำคัญการบริหารแบบสุรยุทธ์ที่มีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี คงไม่มีใครยอมให้อมาตยาธิปไตยฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกแน่

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูผลการลงประชามติแล้ว ผมคิดว่า ระบอบทักษิณอาจจะมีโอกาสฟื้นขึ้นมาอีก แม้จะไม่ง่ายนัก หากมองอย่างหยาบๆ หากพื้นที่สีแดงพวกทักษิณได้กลับมาแบบ 100 % ก็จะมีเสียง ส.ส.ถึง 140 กว่าเสียง (พื้นที่สีเขียวพวกทักษิณอาจจะสอดแทรกได้ แต่พื้นที่สีแดงคนอื่นก็อาจจะสอดแทรกได้เช่นกัน)

แต่ที่สำคัญมันตอกย้ำว่า ไม่มี “ผีทักษิณ” ครับ เพราะทักษิณยังไม่ตาย และยังสู้เพื่อเอาคืนทุกเม็ด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์