มาร์คไร้ชอบธรรม นั่งนายกฯ ศอฉ.ตัวถ่วงเจรจา

"จาตุรนต์ ฉายแสง" ซัด มาร์ค หมดความชอบนั่ง นายกรัฐมนตรี แล้ว เชื่อ ชงโรดแมป หวังกลบฉาวมือเปื้อนเลือด จวก ศอฉ. กร้าวร้าวถ่วงการเจรจาเสื้อแดง คืนสิทธินักการเมือง ควรทำหลังยุบพรรค ปชป...

วันที่ 9 พ.ค. 2553 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า

กรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯขัดขวางแผนการปรองดอง นั้น ความจริงไม่มีประเด็นอะไรที่จะไปเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ เพราะมีหลายเรื่องที่การเจรจานี้ไม่มีทางครอบคลุมไปถึงเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ เสธ.แดง ก็ไม่ได้เป็นแกนนำของการชุมนุมคนเสื้อแดง ไม่มีบทบาทหรืออิทธิพลใด ๆต่อการชุมนุม อาจจะดึงคนบางส่วนได้ชั่วคราวในบางเรื่องเช่น จะตั้งหรือไม่ตั้งบังเกอร์ แต่ไม่มีผลถึงขั้นจะยุติหรือจะพักการชุมนุมหรือไม่

เท่าที่ทราบมีเรื่องที่ทำให้ค้างคามาอยู่ 2-3 ส่วน คือ บทบาทที่ก้าวร้าวของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)

ที่ทำให้แกนนำเสื้อแดงไม่สบายใจและมวลชนคิดว่าถูกข่มขู่มากเกินไป จึงไม่อยากยุติการชุมนุมในลักษณะของการถูกรุกไล่มากเกินไปและการจะยุติชุมนุมแบบไหนจะให้เดินไปโรงพักพร้อมตำรวจหรือจะไปมอบตัวภายหลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ ศอฉ.ไม่ค่อยมีท่าทีที่จะอำนวยความสะดวกหรือให้เกียรติกัน เขาก็เดินไปหาช่องทางเจรจากับฝ่ายการเมือง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การเจรจาที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ตอนหลังที่ แกนนำ นปช.

อยากจะเสนอความเห็นของตัวเองต่อสาธารณะที่จะคู่ขนานหรือเทียบเคียงกับข้อเสนอของนายกฯ นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะบางเรื่องเป็นการแสดงเจตนาต่อสังคมให้สังคม และมวลชนสบายใจ เช่น เรื่องการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพราะประชาชนต้องการหาคนผิดที่สั่งสลายการชุมนุมมาลงโทษ ถ้าเรื่องเหล่านี้แกนนำ นปช.ทำให้ชัดก็มาพูดเรื่องกรรมวิธีหรือพิธีการในการหยุดการชุมนุมให้ชัดเจน ตนก็คิดว่าน่าจะสลายการชุมนุมได้ภายในวันสองวันนี้เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน

ความจริงการป้องกันการแทรกซ้อนความจริงรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญมากกว่านี้ ถ้ายิ่งมีเรื่องแทรกซ้อนแล้วบานปลายจะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลเอง สิ่งที่รัฐบาลควรทำแต่ไม่ได้ทำคือสั่งให้ ศอฉ.ลดบทบาท แต่ศอฉ.ก็เลยยังมีบทบาทก้าวร้าวอยู่และเป็นอุปสรรคต่อการยุติการชุมนุม


อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่เป็นประเด็นที่ไม่ควรเอามาเป็นเงื่อนไขในการยุบสภาคือเรื่องการนิรโทษกรรมหรือคืนสิทธิให้แก่นักการเมือง

ทั้งที่เป็นความชอบธรรมที่จะคืนสิทธิให้กับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิไปโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเอง การหยิบขึ้นมาเร็วเกินไปทำให้เป็นอุปสรรคต่อการยุบสภาหรือแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่า ทั้งกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 นักการเมือง เรื่องมันซับซ้อนและมีวีธีการที่แตกต่างกัน กลุ่ม 109 อดีตนักการเมืองต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม. 237 ก่อนแล้วถึงจะไปคืนสิทธิได้ ส่วนกลุ่ม 111 คืนสิทธิได้เลย เข้าใจว่าโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลอยากได้ทั้งสองกลุ่ม แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ถ้าเอามาเป็นเงื่อนไขก็ต้องทำให้เสร็จก่อนจะยุบสภา ดีไม่ดีอาจจะไม่ทัน การยุบสภาอาจต้องเลื่อนออกไป จึงควรไปพูดกันทีหลัง อาจต้องรอให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบเสียก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน นักการเมืองทั้งกลุ่ม 111 และ 109 น่าจะอดทนต่อไปอีกระยะหนึ่งจนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เสร็จเรียบ้อยแล้วสังคมมาพิจารณากัน

ส่วนมองว่า นายกฯ มีความจริงใจในการจะปรองดองอย่างแท้จริงมากน้อยแค่ไหน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าดูจากสิ่งที่นายกฯทำ และกระบวนการที่จะยุติการชุมนุมไม่ค่อยสอดคล้องกัน

ถ้าจะปรองดองกันควรจะมีการมาร่วมตกลงกันอย่างเปิดเผย แต่นายกฯคงกลัวเสียท่าเสียหน้าที่ต้องมาเจรจากับคนที่จะต้องไปเป็นผู้ต้องหา และอยากได้ภาพว่าเป็นผู้ริเริ่มการปรองดองทุกอย่างทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ความจริงแผนการปรองดองมาจากการผลักดันของหลายฝ่ายรวมทั้ง นปช.ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาว่า นายกฯ ยังปล่อยให้ศอฉ.เล่นบทเกเร ก้าวร้าวมาก ทำให้คนสงสัยในความจริงใจของนายกฯ และทำให้สงสัยถึงความเป็นไปได้ของแผนปรองดอง

"ในเนื้อหา 4-5 ข้อที่นายกฯเสนอหลายเรื่องเป็นปัญหาของรัฐบาลเอง ที่พูดสวยหรูมา ความจริงก็เท่ากับกำลังจะบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมามันผิด และจะต้องแก้อย่างจริงจัง เช่น เรื่องการใช้สถาบันไปโจมตีหรือกลั่นแกล้งคน เรื่องการแทรกแซงสื่อ และเรื่องที่ทำยากคือการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าจะทำจริงจังได้ รัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาเดิม โดยเฉพาะการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือโจมตีทำร้ายคนอื่น การแทรกแซงสื่อ นายกฯอาจจะต้องหักลำฝ่ายเดียวกันที่เป็นพวกที่ชอบใช้สถาบันมากลั่นแกล้งคน และต้องทบทวนหรือเปลี่ยนคนที่ดูแลสื่อของรัฐ

แผนปรองดอง 5 ข้อนี้ดูแล้วทำได้ไม่ง่าย และจริง ๆก็ไม่ใช่ความริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดีวิเศษอะไร แต่เป็นการบอกว่า ที่รัฐบาลทำมาหลายเดือน โดยเฉพาะ 2 เดือนมานี้มันผิดพลาดอย่างร้ายแรง แต่ไม่ได้บอกตรงๆ ว่าผมผิดไปแล้ว จึงทำให้แผนปรองดองไม่ได้มีน้ำหนักมากเท่าไหร่ การที่หลายฝ่ายและ นปช.เห็นด้วย เพราะการจะทำให้การยุบสภาเร็วขึ้น แต่เนื้อหาสาระบางเรื่อง เช่น การปฏิรูปประเทศ การสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่ต้องเริ่มใน 2 สปัดาห์ ทำไม่ได้เลยอยู่แล้วเป็นเรื่องเพ้อเจ้อทั้งนั้น เป็นแค่คำพูดหรู ๆ เพื่อหาทางลงของตัวเอง เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาตราหน้าว่าเป็นคนผิดที่สั่งให้มีการสลายการชุมนุมจนมีคนตาย" นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นจะมีปัญหามาก

เพราะนายกฯ ต้องรับไปเต็ม ๆ ในเหตุการณ์ 10 เม.ย. ที่เป็นเรื่องใหญ่มากมีคนตายกว่า 20 คน บาดเจ็บ 900 คน ไม่มีทางที่จะให้มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระและเป็นที่เชื่อถือว่า ถ้าหากการแต่งตั้งทำโดยนายกฯ จะเป็นปัญหาใหญ่ที่ค้างคาไปเรื่อย ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วนายกฯจะต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่แล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.จนถึงวันยุบสภา นายกฯไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ที่กลุ่มแกนนำ นปช. ไม่เสนอให้นายกฯพักการปฏิบัติหน้าที่เพราะเขาไปติดกับข้อเสนอเรื่องการยุบสภา หลังวันที่ 10 เม.ย.เป็นต้นมาข้อเสนอควรเป็นการเสนอให้นายกฯออกไป แต่เขาก็อาจจะรู้สึกว่าถ้านายกฯออกก็จะมีนายกฯคนใหม่เข้ามาอีกแล้ว การยุบสภาก็เลื่อนออกไปอีกจึงยอมแลกไม่เสนอให้นายกฯออกไป

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์