ผลงานห่วยแตก หรือ ต่อรองผลประโยชน์

แกะรอยแนวร่วมอำนาจใหม่ไล่ "สุรยุทธ์" พ้นเก้าอี้นายกฯ


ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง ผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ มีการเคลื่อนไหว ต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สถานการณ์ยิ่งร้อนแรงมากขึ้น

เมื่อมีการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ จุดประเด็นพุ่งเป้ากดดัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ กระแสกดดันที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ได้ออกมาจากกลุ่มม็อบการเมือง ที่เป็นเครือข่ายอำนาจเก่า

แต่เป็นการเคลื่อนไหวของบุคคลในกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


ซึ่งถือว่าเป็นแนวร่วมสำคัญของกลุ่มผู้ยึดอำนาจ


สนับสนุนการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

สำหรับการเดินเกมกดดัน พล.อ.สุรยุทธ์ ออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ผู้ที่ออกมาเปิดเกม ก็คือ

นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มสมัชชาประชาชนอีสาน 19 จังหวัดหนึ่งในเครือข่าย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ที่จุดพลุ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

เรียกร้องให้ถอดถอน พล.อ.สุรยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ

โดยให้เหตุผลว่า ถ้าไม่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจะทำให้ บ้านเมืองเสียหาย เพราะการบริหารงาน ที่ผ่านมาอืดอาดล่าช้า

ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะ ไม่ปกติ

พร้อมทั้งยังขู่สำทับ ถ้าประธาน คมช.ไม่มีการตัดสินใจภายใน 15 วัน จะระดมคนมาชุมนุมประท้วง

ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีกระแสข่าว ความเคลื่อนไหวในอาการที่สอดรับกัน

โดยมีสมาชิก สนช. ในสายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ สนช.สายทหาร บางส่วน ที่ไม่พอใจการบริหารงานของ พล.อ.สุรยุทธ์และรัฐบาล

พยายามเดินเกมกดดันให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


โดยมีแนวทางในการเคลื่อนไหว เพื่อให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ลาออก


ก่อนการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อแถลงผลการทำงานของรัฐบาลครบรอบ 6 เดือน ในวันที่ 24 พฤษภาคม

หาก พล.อ.สุรยุทธ์ ยังยืนยันที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป สมาชิก สนช.กลุ่มนี้จะใช้เวทีสภาอภิปราย โจมตีนายกฯ และรัฐมนตรีที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล

รวมไปถึงจะมีการล่ารายชื่อ สนช. กดดันให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ไม่เช่นนั้น สมาชิก สนช.กลุ่มนี้ จะลาออกจากเป็นสมาชิก สนช. เพื่อเป็นการประท้วง

ทั้งนี้ นายประพันธ์ คูณมี สมาชิก สนช. และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาระบุถึงกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า

มีสมาชิก สนช.ที่เป็นนายทหารนอกราชการระดับผู้ใหญ่ และสมาชิก สนช.ระดับอาวุโส หารือกันและสอบถามความเห็นของสมาชิกคนอื่นๆ ในเรื่องดังกล่าว

โดยสาเหตุของการเคลื่อนไหวมาจากความอึดอัดใจกับการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาล ช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหา วิกฤติ

ทั้งที่ประชาชนคาดหวังรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่มาจากการยึดอำนาจมาก ว่าจะเข้า มาคลี่คลายวิกฤติของชาติ วางรากฐานการปฏิรูปการเมือง แต่กลายเป็นเข้ามาสานต่อ กฎหมายที่ตกค้างของระบอบทักษิณ

ที่ผ่านมา สมาชิก สนช.ให้โอกาสแก่ รัฐบาลมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง สมาชิก สนช.ระดับผู้ใหญ่ จึงรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศการเมืองขณะนี้

สนช.ระดับผู้ใหญ่ท่านนี้จึงมีความเห็นว่า จะให้โอกาสรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ในการแถลง ผลงานรอบ 6 เดือน ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ หากไม่สามารถชี้แจง ต่อที่ประชุม สนช. ได้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาประเทศอย่างไร ก็คงต้องดำเนินการ อย่างใดอย่างหนึ่ง


เพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า


หากจะอยู่ทำงานต่อไปควรต้องปรับปรุงการทำงานอย่างไร เพราะบ้านเมืองบอบช้ำมากพอแล้ว หากยังอยู่โดยไม่ทำอะไร จะยิ่งเป็นปัญหาซ้ำเติม ปัญหาให้หนักเข้าไปอีก

ยืนยันชัด สนช.บางส่วน ไม่พอใจผลงานรัฐบาล

พุ่งเป้าเล่นงาน พล.อ.สุรยุทธ์

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ทุกอย่างพุ่งตรงไปที่ พล.อ.สนธิ ให้เป็นผู้จัดการปลด พล.อ. สุรยุทธ์ออกจากตำแหน่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 14 ระบุไว้ชัดเจนว่า

"พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้ นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ตามที่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติถวายคำแนะนำ"

จากสถานการณ์ที่กลุ่มสมัชชาประชาชนอีสาน 19 จังหวัด และสมาชิก สนช.บางส่วน พยายามกดดันให้มีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอบอกว่า ความจริงแล้วการเคลื่อนไหวกดดันให้ปลด พล.อ.สุรยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ

ไม่น่าจะเกิดจากกลุ่มแนวร่วมที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ยึดอำนาจมาตั้งแต่ต้น

เพราะเป็นที่รู้กันว่า หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทางข่าวในขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ได้ถูกวางตัวให้เป็นนายกฯตั้งแต่แรก

มีแต่รายชื่อของบุคคลอื่นๆ อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายศุภชัย พานิชภักดิ์ นายอักขราทร จุฬารัตน ที่เป็นแคนดิเดต


แต่สุดท้าย หวยกลับมาออกที่ พล.อ.สุรยุทธ์


โดย พล.อ.สนธิ ไปขอร้องหลายครั้งหลายหน จน พล.อ.สุรยุทธ์ยอมรับปาก และขอ พระบรมราชานุญาตลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี เพื่อมารับตำแหน่งนายกฯ

ฉะนั้น การที่มีคนในเครือข่ายพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวกดดันบีบให้ พล.อ.สนธิ ปลด พล.อ.สุรยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ

ย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา

ทีมของเราขอบอกว่า การเคลื่อนไหวกดดันให้ปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สามารถมองได้ 2 มุม

มุมแรก เป็นการกดดันให้เปลี่ยนตัวนายกฯ ด้วยความจริงใจ

เพราะมองว่า พล.อ.สุรยุทธ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารประเทศชาต ิได้อย่าง มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องการบริหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ ในทางลึกต้องยอมรับว่ามีข้อตกลงกัน มาตั้งแต่แรก ระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์กับ พล.อ.สนธิว่า

งานด้านความมั่นคง ไม่ว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาคลื่นใต้น้ำ ปัญหาความแตกแยก ภายในประเทศ พล.อ.สนธิและ คมช. เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

งานด้านเศรษฐกิจ มอบให้เป็นหน้าที่ของทีมเศรษฐกิจรับผิดชอบ

ในขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลในภาพรวม ประคับประคอง สถานการณ์ให้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง นำพาประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปโดยไม่สะดุด


แต่ในสภาพความเป็นจริงเมื่อการบริหารงานเกิดปัญหา


ด้านความมั่นคง แก้ไขปัญหาไฟใต้ไม่กระเตื้อง ด้านเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย

ทุกอย่างก็มาลงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี

จนกลายเป็นกระแสกดดันให้มีการเปลี่ยนตัว

ส่วนอีกมุมหนึ่ง เป็นการกดดันให้เปลี่ยนตัวนายก รัฐมนตรีเพื่อผลประโยชน์

แน่นอน ถ้าเป็นการกดดันจากเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังสนับสนุน ระบอบทักษิณ ก็พอเข้าใจได้ว่า

เป็นเรื่องของเกมชิงอำนาจระหว่าง "อำนาจเก่า" กับ "อำนาจใหม่"

แต่จากภาพที่ปรากฏ กลุ่มที่ออกมากดดันให้เปลี่ยนตัวนายกฯ กลับเป็นคนในเครือข่าย กลุ่มพันธมิตรฯ

ทำให้มองเห็นเบื้องหลังของกลุ่มทุนที่ไม่สมประโยชน์จากการบริหารของรัฐบาล

โดยเฉพาะกรณีที่มีเสียงร่ำลือเกี่ยวกับการซื้อคืนกิจการของไออาร์พีซี หรือธุรกิจ เครือพีทีไอเดิม

เมื่อไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็มีการกดดันกันทั้งทางลับและเปิดเผย

ทำให้เกิดแรงบีบพุ่งไปที่ พล.อ. สนธิ เพื่อกดดันให้เปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ

ที่สำคัญ การที่ พล.อ.สนธิออกมารับหนังสือจากนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ที่มาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯและนั่งหารือกันเป็นชั่วโมง


แม้ภายหลังจะออกมาอ้างว่า


ที่ออกมารับหนังสือด้วยตัวเองเป็นเพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็น ตัวแทนของอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมาคุยเรื่องสถานการณ์ความเคลื่อนไหว ในภาคอีสานให้ฟัง

แต่ปรากฏการณ์นี้ ก็ทำให้สังคมมองว่า กำลังเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ระหว่าง ประธาน คมช. กับนายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศชาติอยู่ในระหว่างการ เปลี่ยนผ่านสถานการณ์ไม่ปกติ ทุกอย่างเปราะบาง ไปหมด



แม้ล่าสุด พล.อ.สนธิยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวนายกฯ

แต่การยืนยันเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ต้องการกดดัน ให้มีการเปลี่ยนตัวนายก รัฐมนตรีหมดไป

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ พล.อ.สนธิ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จะต้องไปหาสาเหตุแห่งปัญหา ให้พบว่า

แท้จริงแล้วการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องลึก อย่างไร

เพื่อจะได้หาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ถ้าหาเหตุแห่งปัญหาไม่เจอ แก้ยังไงก็ไม่จบ

ที่สำคัญ มันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ.



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์