ปชป.เล็งเอาผิดสุรพงษ์ฐานลักไก่คืนพาสปอร์ตแม้ว

ปชป.เล็งเอาผิดสุรพงษ์ฐานลักไก่คืนพาสปอร์ตแม้ว


ทีมกม.ปชป. เดินหน้าเอาผิด 'สุรพงษ์'ฐานลักไก่คืนพาสปอร์ตลูกพี่ 'แม้ว' พร้อมขอบคุณรัฐบาลฟังประชาชน ไม่แก้เนื้อหา พรฎ.อภัยโทษ


4 ธ.ค.54 นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ในการคืนพาสปอร์ตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ว่า เท่าที่ทราบพ .ต.ท.ทักษิณ ยังมีหมายจับ ยังเป็นแบล็คลิสต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ ซึ่งกระบวนการลบชื่อออกจากแบล็คลิตส์ของกระทรวงการต่างประเทศน่าจะไม่ชอบ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง รมว.ต่างประเทศอาจจะเข้าข่ายการะปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ


ทั้งนี้ ก็จะถูกดำเนินการอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์จะศึกษาว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตราอื่นหรือไม่ ถ้าพบผิดเราก็จำเป็นต้องร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยสามารถดำเนินการได้ใน 2 ช่องคือการยื่นถอดถอน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยยื่นถอดถอนเอาไว้แล้ว และดำเนินคดีอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษจำคุก 5-10 ปี

                 
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการยื่นถอดถอน 2 สส.พรรคเพื่อไทย เพิ่มเติม คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี สส.บัญชีรายชื่อ กรณีผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 นั้นทีมกฎหมายขอเวลาเตรียมข้อมูล 1 สัปดาห์ เพื่อเดินเรื่องให้ส.ส.ของพรรคเข้าชื่อยื่นถอดถอน 2 สส.ดังกล่าวต่อไป

ปชป.ขอบคุณรัฐบาลฟังประชาชน ไม่แก้เนื้อหา พรฎ.อภัยโทษ

                  
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณี พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ซึ่งในส่วนของเนื้อหาสำคัญมีถ้อยความไม่ต่างจากปีที่ผ่านมานั้นว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ยอมฟังเสียงประชาชน กระแสสังคม และยึดถือแนวปฏิบัติ ตามหลักนิติรัฐเหมือนกับรัฐบาลชุดก่อนๆ

                  
ทั้งนี้ การออก พรฎ.อภัยโทษ ดังกล่าว จะเหมือนกับว่ารัฐบาลจะยอมถอยแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็จะต้องตอบคำถามถึงท่าทีและจุดยืนของรัฐบาล ต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1.การคืนพาสปอร์ต ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนักโทษหนีคดีนั้น ควรจะได้สิทธิ์ในการถือพาสปอร์ตของประเทศไทยอย่างไร เพราะที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของไทย

                 
 อีกทั้ง ได้ไปถือสัญญาติและพาสปอร์ตของประเทศอื่นๆ มาแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะยึดถือหลักการใดในการปฏิบัติต่อ พ.ต.ท.ทักษิณในครั้งนี้กันดักคออำนวยความสะดวกให้นักโทษหลบหนี เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติฯ

                  
2.พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นบุคคลที่ถูกรัฐบาลไทยออกหมายจับกุมและเป็นที่ต้องการตัวของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่รัฐบาลไทยกลับใช้กลไกของรัฐผ่านกระทรวงการต่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการ หนำซ้ำผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลชุดนี้หลายคนก็ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างเปิดเผย จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการกับคนของตัวเองอย่างไร ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไปพบผู้ต้องหาที่กระทำผิดกฎหมายโดยไม่ดำเนินการใดๆ ตามที่กฎหมายไทยต้องการ

                
  “การกระทำเช่นนี้ถือว่ามีความผิดในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ จึงอยากจะให้รัฐบาลไทยได้ประกาศจุดยืนของรัฐบาลต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกหมายจับที่ผ่านมา เพราะถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังปล่อยปละละเลย ให้บุคคลในรัฐบาลไปพบและอำนวยความสะดวกให้อยู่ รัฐบาลก็ควรจะประกาศยกเลิก การออกหมายจัดเชน จะได้ไม่เป็นการทำลายระบบนิติรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะได้ไม่ถูกประณามว่าเล่น 2 หน้าหรือปากว่าตาขยิบอีกต่อไป” นายเทพไท กล่าว

                  
 นายเทพไท กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลจะสนับสนุนการปรองดองเหมือนกับที่ใช้เป็นเหตุผลในการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธานจริง ก็ควรจะอำนวยความสะดวก หรือไม่สร้างเงื่อนไขใดๆที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เพราะถ้าหากรัฐบาลไม่มีเอกภาพในทางความคิด ในทางปฏิบัติ กระบวนการปรองดองก็คงจะไม่เกิดขึ้น และความล้มเหลวทางการปรองดองก็จะมีสาเหตุมาจากน้ำมือของคนในมือรัฐบาล ดังนั้นตนอยากให้สังคมจับตาว่าการตั้งกมธ.ปรองดอง เป็นแค่กลลวงหรือไม่ หรือจะเป็นการสร้างปรองดองเฉพาะสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น

                  
นายเทพไท กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ไม่อยากให้กมธ.ปรองดองไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม หรือกดดันการดำเนินการใดๆของกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นข้ออ้างในเรื่องการสร้างความปรองดอง มิเช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับความเชื่อถือมาเป็นเวลายาวนานก็อาจจะถูกสังคมเคลือบแคลงตั้งข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมว่าจะโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันของฝ่ายการเมืองหรือไม่ ควรจะปล่อยให้สถาบันตุลาการได้ทำงานอย่างอิสระ ปลอดจากแรงกดดันทางการเมืองใดๆทั้งสิ้นจะดีกว่า




เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์