จับโกหกเทือก เปิดเอกสาร เอี่ยวจัดซื้อสตช.

เปิดเอกสารบันทึกข้อความด่วน สตช.จับโกหก'สุเทพ เทือกสุบรรณ'เป็นผู้สั่งจ่ายเงินงวดสุดท้าย จยย.ไทเกอร์ กว่า 429 ล้านบาท...

กรณีข่าวที่ระบุว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง

มีส่วนพัวพันกับการเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์จำนวน 19,147 คัน กับบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด 16 งวดสุดท้าย วงเงิน 429,361,010 บาท แหล่งข่าวเปิดเผย"ไทยรัฐออนไลน์"ว่า แม้นายสุเทพ จะปฏิเสธในเรื่องดังกล่าว แต่ในบันทึกข้อความด่วนที่สุดที่ตั้งเรื่องโดยพล.ต.ต.ภูวดล วุฑฒกนก ผบก.พธ. กลับมีการระบุชัดเจนว่า การเบิกจ่ายเงินครั้งนี้ดำเนินการตามบัญชาของ นายสุเทพ โดยบันทึกข้อความ ที่ 009.22/1943 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2552 เรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจ ขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 19,147 คัน ตามสัญญา ที่ทำถึง ผบ.ตร. (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) ผ่าน ผู้ช่วย ผบ.ตร. บร 21 คือพล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้ขอให้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงวดที่ 23-38 รวม 16 งวด คิดเป็นเงิน 429,361,010 บาท โดยอ้างถึงรายงานผลการประชุมหารือแนวทางการเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อรถ จักรยานยนต์ดังกล่าว ว่า ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เข้าข่ายการฉ้อโกง และระบุว่า หากไม่ดำเนินการทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจถูกบริษัทฯเรียกร้องค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.5

ท้าย บันทึกข้อความดังกล่าว พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ยังได้เขียนหนังสือด้วยลายมือตัวเองเรียน ผบ.ตร.(พล.ต.อ.พัชรวาท) ผ่าน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.บร.2

มีข้อความว่า “ในเรื่องนี้เป็นกรณีที่กวพ.มีหนังสือตอบข้อหารือของตำรวจใน 2 ส่วน โดยส่วนแรก (ข้อ 1-4) เป็นกรณีความสมบูรณ์ของสัญญาและในส่วนที่สอง (ข้อ 5) เป็นกรณีการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินการตามเสนอของ พธ.ข้อ 3.1และ 3.2 ประกอบกับได้มีบันทึกของ รองนรม.(นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ลง 5 มี.ค. 52 เรียน ผบ.ตร.ขอได้โปรดสั่งการให้ จนท.เร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ร้องตามสัญญาต่อไป จึงเห็นควรนำเรียนท่าน ผบ.ตร.ได้กรุณาทราบและประกอบการพิจารณาสั่งการ พร้อมเรื่องเดิมที่ได้นำเรียนไว้แล้ว

จากนั้น พล.ต.อ.จุมพล ได้เดินเรื่องส่งต่อไปยัง พล.ต.อ.พัชรวาท (ผบ.ตร.ขณะนั้น) ยืนยันอีกครั้งให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายตามที่มีการเสนอมา

และได้อ้างถึงหนังสือตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของ สัญญาซื้อขาย ข้อเสนอทางด้านเทคนิคว่า มีการแจ้งความร้องทุกข์และฟ้องศาลปกครองยังไม่มีข้อยุติ แต่เมื่อคู่สัญญาได้ส่งมอบและตรวจรับถูกต้องครบถ้วนแล้ว ส่วนราชการคู่สัญญาย่อมมีหน้าที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 71(4) ดำเนินการจ่ายเงินและรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ

นอกจากนี้ พล.ต.อ.จุมพล ยังได้อ้างถึงบันทึก รองนายกรัฐมนตรี (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ลง 5 มี.ค. 52 ท้ายหนังสือขอความเป็นธรรม บริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัด ลง 2 มี.ค. 2552 เรียน ผบ.ตร.ขอให้ตรวจสอบหากเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้องโปรดสั่งการให้ จนท.เร่งรัดเบิกจ่าย โดยในเอกสารของ พล.ต.อ.จุมพล ลงวันที่ 12 มี.ค. 52 เวลา 14.05 น. จากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาทได้แทงหนังสืออนุมัติให้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้ายได้กลับมายัง พล.ต.อ.จุมพล ลงวันที่ 19 มี.ค. 2552

เป็นที่น่าสังเกตว่ากระบวนการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้ายกว่า 429 ล้านบาทเป็นไปอย่างรวดเร็ว

เริ่มจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่บริษัทคู่สัญญาทำถึงนายสุเทพลงวันที่ 2 มี.ค. 52 โดยนายสุเทพรับลูกทันทีเสนอเรื่องถึง ผบ.ตร.ในขณะนั้นหลังจากได้รับการร้องขอความเป็นธรรมเพียง 3 วัน คือวันที่ 5 มี.ค. 52 ถัดจากนั้นอีกเพียง 5 วัน คือวันที่ 10 มี.ค. 52 พล.ต.ต.ภูวดล วุฑฒกนก ผบก.พธ. ก็ตั้งเรื่องให้มีการเบิกจ่ายเงิน 16 งวดสุดท้าย ผ่าน พล.ต.ท.พงศพัศ และใช้เวลาเพียง 2 วัน พล.ต.อ.จุมพล ก็เดินเรื่องต่อไปถึง ผบ.ตร.ในวันที่ 12 มี.ค. 52 ก่อนที่ พล.ต.อ.พัชรวาทจะลงนามอนุมัติในวันที่ 19 มี.ค. 52 รวมใช้เวลาในการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินครั้งนี้เพียง 17 วันเท่านั้น.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์