จังหวะก้าวนิติราษฎร์ เพื่อไทยกรุยทางเพื่อแม้ว

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ภารกิจของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เริ่มออกสตาร์ตทำตามนโยบายหาเสียงที่ได้ประกาศเอาไว้แล้ว จากการลดรายจ่ายด้วยการทำให้น้ำมันลดราคา และเตรียมเพิ่มรายได้ด้วยการขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างขั้นต่ำ ควบคู่กันไปกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นแทบทุกภาค

นโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ผู้คนอยากเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดอีกนโยบายหนึ่งคือ นโยบายปรองดอง เนื่องจากอยากพิสูจน์ทราบว่าจะมุ่งไปสู่การช่วยเหลือ "นายห้างดูไบห่อ" และเครือข่ายจริงหรือไม่ เพราะ "นายกฯปู" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พูดมาตั้งแต่ครั้งออกเดินสายหาเสียงเลือกตั้งว่า จะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนเสื้อแดง หรือแม้แต่ผู้เสียชีวิต 91 ราย ในเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงก็ต้องได้รับความเป็นธรรม

หลังเลือกตั้ง มีการเยียวยาคนเสื้อแดงที่มีคดีความและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำให้ได้รับอิสรภาพออกมาชั่วคราว หลัง "นายใหญ่" ออกนโยบายเกณฑ์ให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องขอประกันตัวให้แล้ว

แต่สิ่งที่คนเพื่อไทยคาดหวังจะทำให้สำเร็จให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคเพื่อไทย เปิดข้อเสนอออกมาแล้วว่า อยากให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากตัวแทนประชาชนทั่วประเทศในลักษณะตัวแทนแบบจังหวัด หลอมรวมเข้ากับปราชญ์จากรั้วสถาบันอุดมศึกษาหลักของชาติ

ส่วนกลุ่มเครือข่ายมวลชนคนเสื้อแดง ยังยืนอยู่ในจุดเดิมคือแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดที่เคยมีมา

ขณะที่มวลชนที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามได้คัดค้านแนวคิดข้างต้น แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธได้ไม่เต็มเสียงว่าเป็นรัฐธรรมนูญสีเทา มีที่มาแบบครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

การทุ่มเถียงทางความคิดยังดำรงอยู่ พร้อมๆ กับข้อเสนอใหม่ที่อาจจะเป็นได้ทั้งการปลดล็อก หรือการเพิ่มเงื่อนไขใหม่ๆ ให้สถานการณ์เขม็งเกลียวกันขึ้นได้

วันก่อน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ยื่นข้อเสนอแนะ 8 ประเด็น ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง "ซ้ำซาก" ในอนาคต

งานนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เด้งรับลูกทันที ด้วยการมีมติ ครม.ให้ตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอของ คอป. โดยมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน เพื่อติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ตามข้อเสนอของ คอป.

ในห้วงเดียวกันนี้ ก็มีนักวิชาการสายนิติศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ภายใต้หมวกใบใหม่ที่ชื่อ "คณะนิติราษฎร์" ก็ออกมานำเสนอชุดความคิดอีกชุดหนึ่ง เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติด้วยเช่นกัน

เพียงแต่ข้อเสนอครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า "รับงานใครมา" ด้วยเพราะการเสนอให้คนไทยลืมอดีตล้างเมโมรีเก่าให้หมดเพื่อมานับหนึ่งกันใหม่นั้น คณะนิติราษฎร์ยื่นข้อเสนอให้ "ล้างความผิด" ของใครต่อใครที่ก้าวเข้ามาสู่วังวนการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีแดง สีเหลือง เสื้อสีเขียว สีกากี เอากันกระทั่งว่าเสมือนเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 กันยาฯ 2549 ไม่ได้เกิดขึ้น

หรือแม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกากรณียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นด้วย !?!

นับเป็นข้อเสนอที่ "สุดโต่ง" เอาการในยุคที่สังคมต้องการ "ดุลยภาพ" อย่างมากในการจัดการปัญหาต่างๆ จนมองเลยข้ามช็อตไปว่าแทนที่จะเป็นทางออกของปัญหา แต่อาจจะกลายเป็นชนวนให้เกิดปัญหาขึ้นมารอบใหม่ที่จะมีพลังทำลายล้างมากกว่าเดิมเสียอีก

เพราะไม่มีใครปฏิเสธว่า "คีย์แมน" ในคณะนิติราษฎร์นั้นใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐบาล เพียงแต่ภาพความเป็นนักวิชาการทำให้ผู้รับสารต้องนำไปขบคิดต่อให้ตกผลึก

และถ้านำข้อเสนอของทุกฝ่ายมาพิจารณารวมกันความ "สุดขั้ว" ของแต่ละข้อเสนอที่มีอยู่ อาจเป็นช่องทางที่พรรคเพื่อไทยจะหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์เป็นประเด็น "ต่อรอง" เพื่อนำไปสู่การเผยโฉม "ข้อเสนอของจริง" เพื่อช่วยเหลือใครบางคน

เหมือนที่ครั้งหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคย "ซ้อนกล" พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว

(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2554)

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์