“คณิต” ชี้นิติรัฐของไทยยังยึดติดตัวบุคคลมากกว่าความถูกต้องข้อกฎหมาย

“คณิต” ย้ำกระบวนการนิติรัฐยังยึดติดตัวบุคคลมากกว่าความถูกต้องของข้อกฎหมาย ระบุกระบวนการดำเนินคดีอาญาในไทยหลายหน่วยงานทำงานไม่สัมพันธ์กัน ขณะที่ “อานันท์”ชี้สังคมไทยยังติดยึดเรื่องอดีตและยังขาดจิตวิญญาณในการหาความจริง เชื่อปัญหาใหญ่ของประเทศคือ การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และองค์กรภาควิชาชีพสื่อมวลชน ร่วมจัดงาน ทีทอร์ค
 
เพื่อระดมทุนสร้าง “อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 2535” โดยมีนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปาฐกถาเรื่อง “ขบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม” และมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เป็นปัจฉิมกถา  โดยมีบุคคลต่างๆ เข้าร่วมฟังจำนวนมาก อาทิ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ

นายคณิต กล่าวว่า เป็นนักกฎหมายอาญาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมาตลอดทั้งชีวิต  มีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับศาลและกฎหมาย

ซึ่งบ้านเมืองเรามีปัญหาต้องแก้ เพราะหนีอย่างไรก็ไม่พ้น จุดเริ่มต้นมาจากคดีซุกหุ้น ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยบอกไว้ว่าเรื่องดังกล่าวจะทำให้มีคนเสียชีวิต แล้วก็มีจริงๆ โดยมีการบิดเบือนข้อกฎหมาย เช่น ในคดีซุกหุ้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับวินิจฉัยคดีหรือไม่ ซึ่งมีมติเสียงข้างมากว่ามีอำนาจรับวินิจฉัย แต่เมื่อพิจารณาคดีเข้าจริงๆ  ก็มีตุลาการ 2 คน ที่ลงมติไม่รับวินิจฉัยคดีดังกล่าว กลับลงมติในเสียงข้างมากชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิด คดีนี้ถ้าใช้หลักกฎหมายถูกต้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

“การพิจารณาคดีต่างๆ นักกฎหมายถือเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และเป็นจุดเริ่มต้นต่อกระบวนการนิติรัฐ ปัญหาสังคมในปัจจุบันเกิดจากนักกฎหมายยึดตัวบุคคลมากกว่าที่จะยึดในหลักของข้อกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีความไขว้เขวในเรื่องอำนาจนิติรัฐ ซึ่งฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร ยังมีความคลุมเครือในเรื่องการใช้อำนาจ และในส่วนของกระบวนการตรวจสอบยังทำได้ไม่ดีพอ จึงทำให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจขาดความรับผิดชอบกับประชาชน” นายคณิต กล่าว 

นายคณิต กล่าวว่า อัยการต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับคนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอัยการปัจจุบันมีความน่ารังเกียจหลายอย่าง
 
อาทิ ชอบทำงานสบายๆ ไม่ลงไปหาความจริง กลัวนั้นกลัวนี้ ที่สำคัญกระบวนการดำเนินคดีอาญาของไทย มีหลายหน่วยงานต้องทำงานสัมพันธ์กัน อาทิ อัยการ ป.ป.ช. แต่ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ และทะเลาะกัน ดังนั้นต้องหันมาสร้างความสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

 ด้านนายอานันท์ กล่าวว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ทุกเหตุการณ์เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนและอำนาจของรัฐ 

แต่รูปแบบอาจแตกต่างกันไป คนที่เข้ามาร่วมในกระบวนการนิติรัฐ คนที่ให้ความสนใจการเมืองในประเทศเริ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหา สังคมเราขาดจิตวิญญาณการแสวงหาความจริง เพื่อความถูกต้อง ถ้าไม่ถึงจุดนั้น ขบวนการการได้มาซึ่งอำนาจที่มาโดยประชาชน เพื่อประชาชน จะยังอยู่ห่างไกล สังคมไทยยังหมกมุ่นสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า ยึดตัวกูของกู ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของอำนาจ หรือต้องการทรัพย์สินของตัวเองเท่านั้น แต่นิสัยของคนไทยอีกอย่าง คือ มักง่ายให้กับตัวเอง พี่น้องในครอบครัว และเพื่อนฝูง จิตสาธารณะเริ่มน้อย ของที่เรียกว่า สาธารณะไม่ค่อยให้ความสนใจดูแล เพราะถือว่าไม่ใช่ของตัวเอง   

นายอานันท์ กล่าวว่า สังคมไทยตามเหตุการณ์ไม่ทัน เพราะยังลุ่มหลงกับปัญหาในอดีต ไม่ใช่ว่าให้ลืม แต่ชีวิตข้างหน้า เราไม่สามารถเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตมายับยั้งการก้าวไป หรือนำมาเป็นอุปสรรค เพราะหลายสิ่งในโลกเปลี่ยนไปมาก เราไม่ควรจำสิ่งที่ไม่น่าจำ เรายังงมงายกับการเขียนรัฐธรรมนูญ อยู่กับระบบการเลือกตั้ง หรือแก้ปัญหาว่าจะมีรัฐประหารหรือไม่มีรัฐประหาร

“ปัญหาใหญ่ในเมืองไทยที่เกิดขึ้น คือ การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งทางเศรษฐกิจ การปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน คนที่เข้ามาต้องการผูกขาดอำนาจ เราต้องสกัดกั้นไม่ให้มีการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะในอนาคต สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจกองทัพ ที่ผ่านมาเราชอบพูดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมของเราด้อยพัฒนามาก ทั้งตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์ล้มเหลว ทั้งนี้อยากเสนอให้ยุบคณะกรรมการกฤษฎีกาให้หมด เพราะคนที่เป็นกฤษฎีกาขณะนี้มีคนอายุ 70-80 ปีไปนั่ง แก่ไปแล้ว เพราะการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่การบริหารโดยกฎหมาย ตราบใดที่คิดว่า จะให้กระบวนการยุติธรรม ยุติธรรมจริงๆ  ต้องเข้าถึงธรรม ไม่ใช่ยุติด้วยการทำ”นายอานันท์ กล่าว. -สำนักข่าวไทย
 

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์