ขู่!ล้มปตท.รัฐต้องควัก4แสนล้านซื้อหุ้นคืน

ไทยโพสต์

24 มิถุนายน 2549 กองบรรณาธิการ

ปตท.ขู่รัฐต้องควัก 4 แสนล้านบาท ซื้อหุ้นคืน หากต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ สอบ.มีสิทธิ์ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ควรหันหน้าเจรจาแก้ปัญหาร่วมกัน บอร์ด กฟผ.อนุมัติออกบอนด์ 7,390 ล้านบาท ลงทุนปี 49 สร้างโรงไฟฟ้าสงขลาขยายสายส่ง ยังไม่เคาะแผนผูกขาดไฟฟ้า 15 ปี

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการ "5 ปี แปรรูป ปตท.ประเทศชาติและประชาชนได้อะไร" ว่า สมาพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (สอบ.) สามารถฟ้องต่อศาลปกครองให้ ปตท.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิมได้ แต่ควรมาเจรจาเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน

หาก ปตท.ต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐบาลต้องซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อย และกองทุนวายุภักษ์ที่ถือหุ้น ปตท.รวมอยู่ 50% ของ 2,800 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 300 บาท มูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท และหาก ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ที่มี 4 ล้านล้านบาท ลดลง 8 แสนล้านบาท ดัชนีที่อยู่ระดับ 600 จุด จะลดลงตามลำดับ

"นี่คือจุดจบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในด้านรัฐบาลต้องกู้เงินเข้ามา หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้น เครดิตประเทศก็จะลดลง ค่าเงินบาทก็จะอ่อนสมใจกันก็คราวนี้ ถ้า ปตท.ออกจากตลาดฯ ผลกระทบใหญ่หลวงมาก ไม่เหมือนกรณี กฟผ. เพราะยังไม่ได้เข้าตลาดฯ" นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.วางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าจะลงทุน 595,473 ล้านบาท และวางเป้าหมายผลตอบแทนให้รัฐในรูปภาษีและเงินปันผล ตั้งแต่ปี 2550-2554 รวม 324,082 ล้านบาท

นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการ สอบ.กล่าวว่า การที่ ปตท.ดำเนินกิจการแบบบริษัทอีกทั้งยังเป็นกิจการผูกขาด จึงต้องมีองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบการใช้ทรัพยากรของ ปตท.อย่างเข้มงวด และขอตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนแปรรูป ปตท.มีทรัพย์สินกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ช่วงเตรียมตัวเข้าตลาดฯ ทรัพย์สินลดเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท อยากทราบว่าทรัพย์สินเกือบ 3 หมื่นล้านบาทหายไปไหน

ด้านที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. อนุมัติให้ออกพันธบัตรวงเงิน 7,390 ล้านบาท เพื่อใช้ในแผนลงทุนปี 49 เป็น 2 ส่วน 1.ใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา และ 2.ใช้ในการขยายระบบสายส่งเป็นขนาด 230 กิโลโวลต์ เป็นเงิน 2,400 ล้านบาท ที่เหลือ 4,990 ล้านบาท จะนำส่งหนี้พันธบัตรที่หมดอายุลงในปีนี้

อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางประกงยูนิต 5 กำลังผลิตขนาด 740 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ กำลังผลิต 730 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอ ครม.โดยเร็วที่สุด

ส่วนการอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2006) ระยะยาว 15 ปีของ กฟผ.ยังไม่มีการอนุมัติ เป็นเพียงการเสนอเพื่อให้ที่ประชุมรับทราบเท่านั้น.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์