กกต.ไต่สวนมาร์ค–สุเทพ ปราศรัยคว่ำการทำประชามติ

กกต.ตั้งกก.ไต่สวนกรณีมาร์ค –สุเทพ ปราศรัยให้ปชช.คว่ำการทำประชามติ แจงปัญหาที่กกต.มีข้อติดขัดในการดำเนินการจัดทำประชามติ

กกต.ไต่สวนมาร์ค–สุเทพ ปราศรัยคว่ำการทำประชามติ


                  นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ชมรมนักกฎหมายผู้รักความเป็นธรรม ได้ยื่นขอให้กกต. ตรวจสอบการกระทำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีมีจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊กส่งถึงคนไทยทุกคนให้ร่วมกันคว่ำการทำ ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กรณีกล่าวปราศรัยที่ จ.นครปฐม เชิญชวนประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเข้าข่ายกระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือไม่นั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีคำสั่งลงวันที่ 2 ม.ค. ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

               นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชิญกกต.ไปหารือเรื่องการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับการประสานให้ร่วมหารือที่ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 ม.ค. เวลา 13.30 น. ซึ่งตนและนายธนินศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกประชามติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะไปรับฟังความคิดจากคณะทำงาน

             โดยจะนำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรคหากรัฐบาลจะมีการทำประชามติแก้ไข รัฐธรรมนูญจริง เช่น เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้การออกเสียงประชามติกระทำในวันเดียว แต่ก็มีการกำหนดให้คนไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรสามารถออกเสียงได้ รวมถึงกรณีหากมีการประกาศให้มีการทำประชามติ กกต.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน120 วัน โดยระหว่างนั้นหากมีการยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด และรับไว้พิจารณา กกต.ต้องหยุดการดำเนินการประชามติจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งช่วงเวลาที่หายไปในระหว่างการพิจารณาของศาลที่อาจะเกินจาก 120 วันซึ่งกฎหมายกำหนด จะนับกันอย่างไร กฎหมายไม่ได้ระบุไว้

             “จริง อยู่หากจะขจัดปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งต้องใช้กระบวนการของสภาฯ แต่คณะของกกต.ที่ไปมีหน้าที่ไปรับฟังและแจ้งให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคหากมีการ ทำประชามติ ตามที่กกต.มอบหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะไปเสนอว่าปัญหาอุปสรรคเหล่านี้จะต้องแก้ด้วยวิธีการใด เพราะหน้าที่นี้เป็นของฝ่ายการเมือง” นายภุชงค์ กล่าวและว่า ขณะนี้ร่างระเบียบว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ของสำนักงานเป็นครั้งที่ 5 ตามมติกกต. ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมกกต.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์