หม่อมอุ๋ยฟิวส์ขาด เปิดศึกชน คุณหญิงจารุวรรณ

"กรณีเรียกร้องให้ คมช.อธิบายเหตุผลในการทำรัฐประหาร"


สืบเนื่องจากกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลในการทำรัฐประหาร เพราะประชาชนเริ่มไม่มั่นใจว่าการปฏิรูปการปกครองของ คมช. ทำไปเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติหรือเพื่อแสวงหาอำนาจให้ตัวเอง

สนธิ ไล่จี้ 4 เหตุผลรัฐประหาร

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 30 ต.ค. ที่สโมสรทหารบก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการทำงานของ คมช.ที่มีความล่าช้าว่า เป็นธรรมดาเพราะ คมช.มีอายุเพียงเดือนเศษ ทำอะไรติดขัดไปหมดทั้งเรื่องระบบ ระบอบและความเข้าใจ ต้องยอมรับว่า คมช.ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และปัญหาทุกวันนี้ที่เกิดขึ้นเราเองก็แก้ไปวันๆ ส่วนเรื่อง 4 ประเด็นที่เรานำมาเป็นเหตุผลในการปฏิรูปนั้น ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.นี้ไป คมช.จะเริ่มชี้แจงว่าคืบหน้าไปถึงไหน ที่ผ่านมาได้ ดำเนินการไปแล้วแต่มีเรื่องติดขัด โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และคดีต่างๆ จะต้องใช้ข้อมูลเข้ามาประกอบในการดำเนินการ ข้อมูลที่มีอยู่ ยังไม่พียงพอ

พรุ่งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการชี้แจงเกี่ยวกับคดีพวกนี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบผ่านทางทีวี โดยเราจะใช้สื่อมวลชนเข้าไปทำความเข้าใจ โดยที่ขณะนี้ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจต่อคดีต่างเหล่านี้ เรารู้ปัญหาแล้วต้องแก้ปัญหาที่ตรงต้นตอ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผบ.ทบ.กล่าว

ใครผิดใครโกง คตส.-ป.ป.ช.ชี้ขาด

เมื่อถามว่า การคอรัปชันของรัฐบาลที่แล้วมีประชาชนอยากทราบถือเป็นเรื่องสำคัญ พล.อ.สนธิตอบว่า สำคัญเราเองตอบไม่ได้ว่าใครผิดใครถูกหรือใครโกงกินคอรัปชัน ขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการดำเนินการ มีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย เราไม่ได้ไปกดดัน คตส. แต่จะถามว่าคุณมีปัญหาอะไร และที่ทำไปแล้วทำไมถึงช้า ต้องอธิบายให้สังคมฟัง ไม่เช่นนั้น คมช.ก็รับผิดอยู่คนเดียว ตรงนี้เราไม่มีการไปกดดัน เพราะเราให้เวลาอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มีคดีอะไรที่จะต้องออกมาเร่งบ้าง โดยเฉพาะคดีคาร์บอมบ์ คดีตากใบและคดีทนายสมชาย พล.อ.สนธิตอบว่า ก็เร่งหมดทุกเรื่องให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ คมช.มีความกังวลอะไรมากที่สุด ประธาน คมช.ตอบว่า สิ่งที่กังวลไม่ใช่เรื่องงาน คือเรื่องของประชาชนที่จะต้องมีความเข้าใจ คมช. อย่างแท้จริง อย่างเพิ่งใจร้อน ให้ใจเย็นๆ เพราะ คมช. ร้อนกว่าทุกคน

พูดคุยทุกกลุ่มเพื่อความสมานฉันท์


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีพรรคการเมืองเข้ามาติดต่อกับ คมช. เพื่อแก้ไขปัญหาคลื่นใต้น้ำ ทาง คมช.จะเปิดรับฟังหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า รับทุกคนอยู่แล้ว ทุกกลุ่ม สามารถเข้ามาประสานได้ ขณะนี้มีแกนนำของทางพรรคการเมืองติดต่อเข้ามาอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง เพราะเราต้องการคุยกับทุกพรรค ทุกกลุ่มทุกคน เรื่องของความสมานฉันท์ เราคุยกับทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เราจะต้องมาทำความเข้าใจกันว่าปัญหาเกิดตรงไหน ทั้งนี้ มีพรรค การเมืองได้ติดต่อเข้ามาแล้ว คือพรรคไทยรักไทย แต่ขอไว้คุยกันก่อนว่าจะคุยกันในเรื่องใด

เมื่อถามถึงได้มีการพูดคุยกรณีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่เข้าพบ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษบ้างหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ไม่ได้คุยกัน เมื่อถามต่อว่าคุณหญิงพจมานได้ติดต่อมายังท่านเพื่อขอเข้าพบหรือไม่ พล.อ.สนธิตอบว่า ไม่มี

สมุดปกขาวแจงเหตุปฏิรูปเสร็จแล้ว

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะสมาชิก คมช. กล่าวถึงกรณีที่ คมช.ต้องการชี้แจงความคืบหน้าในการทำงานให้กับประชาชนทราบว่า ก็อยากให้สื่อได้ช่วยประชาสัมพันธ์ และในหลายเรื่องก็อยากประชาสัมพันธ์เอง แต่เวลาพูดแล้วไม่มีใครนำไปเสนอให้ เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่ชอบนำเสนอข่าวที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้ สื่อมวลชนควรจะเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์และทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นสนุกสนานกับเรื่องสร้างสรรค์ เพราะเรื่องสร้างสรรค์ถือเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการทำสมุดปกขาวชี้แจงเหตุผลการยึดอำนาจนั้น สำหรับในส่วนของตนก็ได้มีโอกาสแก้ไขปรับปรุงไปบ้างพอสมควร และส่งไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน คาดว่าขณะนี้น่าจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาจะระบุถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีการปฏิรูป และปฏิรูปแล้วจะทำอะไรบ้าง โดยจะมีการพิมพ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ไม่ทราบว่าจะมีการพิมพ์แจกจ่ายวันไหน เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการยกฟ้องคดีคาร์บอมบ์หรือไม่นั้น พล.อ.บุญสร้างตอบว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบ เมื่อถามว่า การประชุม คมช.สัปดาห์นี้จะมีการหารือเรื่องการประกาศยกเลิกกฎ อัยการศึกหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างตอบว่า เรื่องนี้ คมช.ก็มีการพูดคุยกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ต้องมีการนัดเวลาพิเศษก็คุยกันอยู่แล้ว

ให้เวลา 2 สัปดาห์สาง 3 คดีฉาว

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในฐานะรองประธาน คมช. กล่าวถึงแนวทางในการเร่งรัดการดำเนินคดีสำคัญที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีลอบสังหารอดีตนายกฯ (คาร์บอมบ์) คดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และคดีการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาสว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแนวทาง แต่ในทุกคดีความจะพยายามเร่งรัดองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้คุยไปบ้างแล้ว 2-3 องค์กร และในสัปดาห์นี้จะพูดคุยกับอีก 3-4 องค์กร เพื่อเร่งรัดให้เขาทำงานในหน้าที่ของตัวเอง คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะเกิดความชัดเจนมากขึ้น เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของมันอยู่แล้ว อย่างคดีคาร์บอมบ์ก็คงจะปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางตามระบบของคดีความ ส่วนคดีทนายสมชาย คมช.คงทำเองไม่ได้ ก็ต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำให้เร็วขึ้น เมื่อคนสงสัยก็ต้องทำให้ความจริงปรากฏออกมา

เหน็บตำรวจถ้าตั้งใจทำกระจ่างแน่


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่า คมช.สั่งให้ตำรวจยุติการดำเนินคดีคาร์บอมบ์ ข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นอย่างไร พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า คงไม่มีใครไปกล้าสั่งหรอก เพราะเป็นเรื่องทางกฎหมาย เมื่อถามว่า จะทำคดีให้กระจ่างได้ อย่างไร เพราะสังคมสงสัยว่าเป็นคาร์บอมบ์ หรือคาร์บ๊องกันแน่ รองประธาน คมช.ตอบว่า แน่นอน เมื่อถามว่า การเปลี่ยนแปลงตัวนายตำรวจที่รับผิดชอบคดีจะมีผลต่อการขยายผลการสืบสวนสอบสวนหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า ยังไม่ทราบ อันนี้ขึ้นอยู่กับทางตำรวจ ถ้าตั้งใจ ทำก็คงไม่มีปัญหา เมื่อถามย้ำว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ามีนายทหารระดับสูงเกี่ยวพันกับคดีคาร์บอมบ์ถึง 4 คน ถ้าท้ายที่สุดมีเพียงแค่ระดับจ่าต้องรับผิดคนเดียว จะทำให้ สังคมคลางแคลงใจหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า มันขึ้นอยู่กับหลักฐาน เราจะไปปรักปรำก็ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลักฐานด้วย จะเห็นว่าบางคดีทำอะไรต่อไม่ได้เพราะหลักฐานมันไม่มี สำคัญตรงจุดนั้น

ยืนยัน คมช.จะไม่เข้าไปแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงหยิบคดีทั้ง 3 คดีขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรก พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า ไม่ใช่แค่ 3 คดี แต่ทุกเรื่องที่มีที่อยู่ในองค์กรต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้สื่อข่าวถามว่า คมช.จะประชาสัมพันธ์การทำงานให้ประชาชนรับทราบอย่างไร เพราะที่ผ่านมาการ ทำงานค่อนข้างล่าช้า รองประธาน คมช.ตอบว่า คงเป็น เพราะว่าเดิม คมช.ไม่อยากทำอะไรให้เป็นที่ครหาว่าไปบังคับคนนั้นคนนี้ แต่เราก็จะพยายามสร้างผลงานให้ ปรากฏในระยะเวลาอันใกล้นี้ และคงต้องทำการประชา-สัมพันธ์มากขึ้น เมื่อถามว่า มีการมองว่า คมช.อาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการต่างๆ พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า คงไม่มี หรอก มีแต่เราจะไปบอกว่าคุณต้องทำ คือเราจะไม่ระงับ แต่เราจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าแทรกแซงคงไม่ใช่ อย่างนี้หรอก

ยังหวั่นคลื่นใต้น้ำไม่เลิกอัยการศึก

ส่วนปัญหาคลื่นใต้น้ำที่สมาชิกพรรคไทยรักไทยได้ออกมายืนยันว่าไม่มี และควรยกเลิกการประกาศใช้ กฎอัยการศึกได้แล้วนั้น พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า จริงๆแล้วต้องดูสถานการณ์และเหตุการณ์ มันจะเห็นได้ว่ามีหรือไม่มีคลื่นใต้น้ำ ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากใบปลิวที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำ พอมีหลักฐานอื่นที่เป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นว่าคลื่นใต้น้ำมีอยู่จริงหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า บางเรื่องบอกไม่ได้ แต่การติดตามดูการเคลื่อนไหวของนักการเมือง หรือคนที่เกี่ยวข้องก็จะเห็น คิดว่าพูดไปจะไม่ดี ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องคลื่นใต้น้ำเกี่ยวข้องกับการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกใช่ หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตตอบว่า มันก็ต้องเกี่ยว ถ้าหากมัน มีมันก็อาจจะต้องพิจารณา เพราะ คมช.ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้ดูแลเรื่องความมั่นคง ถ้าความมั่นคงทั้ง ภายในและภายนอกมันไม่มั่นคง มันก็จะเป็นความบกพร่อง ของ คมช. เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าในเร็วๆนี้จะไม่มีการ ยกเลิกกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ รองประธาน คมช.ตอบว่า ไม่ขอบอกเป็นวันเวลา แต่ว่าเรื่องนี้ทางรัฐบาลและ คมช. ไม่อยากคงไว้ เพราะมันไม่ส่งผลดีทั้งในและนอกประเทศ

มทภ.1 เชื่อ ทักษิณ ยังไม่กลับ


พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึง กรณีที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะขอกลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 1 พ.ย.นี้ว่า มีการปล่อย ข่าวในลักษณะนี้ตลอด คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงยังไม่เดิน ทางกลับมาในช่วงระยะเวลานี้อย่างแน่นอน ขณะนี้ พ.ต.ท. ทักษิณจะต้องรอดูท่าทีสถานการณ์บ้านเมือง รวมถึงคดีต่างๆ เมื่อถามว่า กลุ่มรากหญ้าที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณนัดรวมตัวกัน เพื่อต่อต้านการทำงานของ คมช.และรัฐบาล ในวันที่ 1 พ.ย. ที่บริเวณท้องสนามหลวง พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า เป็นการปล่อยข่าว แต่หากเกิดรวมตัวและสร้างความวุ่นวายกันขึ้นมา กองทัพมีมาตรการเตรียมการดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว เมื่อถามว่า หน่วยข่าวพบว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคลื่นใต้น้ำ พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า ยอมรับว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคลื่นใต้น้ำจริง โดยมีการเชิญชวนให้มารวมตัวกันต่อต้าน แต่ไม่รู้ว่าจะมีใคร มาร่วมด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีการเชิญชวน แต่ประชาชนก็ไม่ได้เดินทางมาร่วมด้วย

เตือนคลื่นใต้น้ำอย่าออกมาชุมนุม

หากคลื่นใต้น้ำรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านถือว่าผิดกฎหมาย เพราะขณะนี้ยังไม่ได้ยกเลิกกฎอัยการศึก ดังนั้น อยากให้อยู่ในความสงบ อย่ามาสร้างความเดือดร้อน รัฐบาล จะผ่อนผันเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น แต่มีกลุ่มคนพยายามปลุกระดมในพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่เข้าไปทำความเข้าใจ และเกาะติดกับมวลชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เห็นว่าการเข้ามาไม่ได้มีประโยชน์อะไร แล้ว จะสร้างแต่ความวุ่นวาย ดังนั้น ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย พล.ท.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้กองทัพ หวั่นไหว หรือเป็นห่วงอะไรเป็นพิเศษ พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า จะกลัวอะไร เพราะในเมื่อทำแล้วก็ไม่ต้องกลัว เพียงแต่ว่าตอนนี้ต้องเตรียมให้พร้อม หากเกิดสถานการณ์อะไรต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ จะมัวแต่กลัวคงไม่ได้ เมื่อถาม ว่า คมช.จะเร่งการสอบสวนคดีค้างเก่า ทั้งเรื่องคาร์บอมบ์ ตากใบ และทนายสมชาย พล.ท.ประยุทธ์ตอบว่า คมช.มีหน้าที่ควบคุมนโยบาย จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของคดีต่างๆ เพียงแต่ต้องการให้คดีเป็นไปตามระบบ เพราะ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือ ถูก

ป.ป.ช.พร้อมแจงคดีทุจริตให้ คมช.ฟัง

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช. จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริตมาพบ เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการตรวจสอบ การทุจริตคอรัปชัน ว่า ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับการประสานมาจาก คมช.ในเรื่องดังกล่าว แต่ได้เตรียมข้อมูลเรื่องการทุจริตไว้พร้อมแล้ว พร้อมที่จะรายงานให้ คมช. รับทราบ เพราะ ป.ป.ช.จะมีการแถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบ ในโอกาสครบรอบการทำงานของ ป.ป.ช. 1 เดือนอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน และที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ เร่งรัดการทำงานตลอดเวลา โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คดีมูลค่าความเสียหายมากๆ และคดีใกล้หมดอายุความ ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ คมช. เร่งรัดขอทราบความคืบหน้าในการทำงานของ ป.ป.ช. มองว่าเป็นการกดดันการทำงานหรือไม่ นายปานเทพตอบว่า ไม่รู้สึกกดดัน คิดว่าเป็นความหวังดีที่อยากจะให้ทำคดีเสร็จโดยเร็ว แต่การทำงานของ ป.ป.ช.จะเร่งรัดไม่ได้ เพราะต้องยึดหลักความเที่ยงธรรมตามกฎหมาย

หม่อมอุ๋ย จวก สตง.มั่วข้อมูลสุดๆ


ส่วนกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า มีข้าราชการเข้าไปดำรงตำแหน่งในกรรมการรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 14 คน ในจำนวนนี้มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.คลัง รวมอยู่ด้วย โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้กล่าวว่า การเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือว่าเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ผิดกฎหมาย การที่ สตง.ระบุว่าเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจจำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วยกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน กรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กรรมการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) กรรมการศูนย์คุ้มครองข้อมูลเครดิต กรรมการตรวจสอบ ก.ล.ต. และกรรมการตรวจสอบ บสท. ในความเป็นจริงเป็นกรรมการในหน่วยงานต่างๆเพียง 6 แห่งเท่านั้น เพราะการเป็นกรรมการตรวจสอบใน ก.ล.ต.และ บสท.นั้น เป็นกรรมการที่อยู่ภายใน รัฐวิสาหกิจเดียวกัน แต่ที่ต้องมาเป็นกรรมการตรวจสอบ ก็เพราะมีความจำเป็นในเรื่องของการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานตามระเบียบของกระทรวงการคลัง

จำใจต้องตอบโต้เพื่อปกป้องชื่อเสียง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การที่ สตง.จงใจแยกแยะให้เป็นกรรมการถึง 8 แห่ง เพราะต้องการตีไข่ใส่สีเพราะการเป็นกรรมการทั้ง 6 แห่ง เป็นไปตามที่กฎหมายทั้งหมด เพราะมี พ.ร.บ.จัดตั้งให้เป็นไปโดยตำแหน่ง ถ้าไม่เป็นถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่และยังมีความผิดด้วย

ผมไปดูข้อกฎหมายแล้วว่า การเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่งนั้น ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้วถึง 2 ครั้งคือเมื่อปี 2518 และปี 2539 โดยหนังสือที่สำนักงานกฤษฎีกาตอบกลับคือ การเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามกฎหมายนั้น เป็นความต้องการของกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การเป็นกรรมการโดยตำแหน่งดังกล่าวจะลาออกไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับให้เป็น แม้ว่าจะมีกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งเกิน 3 แห่ง ก็ไม่เป็นการขัด พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

เหตุใดจงใจระบุว่ากระทำผิดกฎหมาย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าว สตง.ก็รู้ดี และเป็นเรื่องรู้กันโดยทั่วไป จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด สตง.จึงจงใจระบุว่ากระทำผิดกฎหมาย และต้องการให้นายกฯและประธาน คมช.รับทราบ เพื่อดำเนินการข้าราชการที่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจมากกว่า 3 แห่ง ทางหนังสือพิมพ์ จึงประเมินว่ามีกระบวนการทำลายชื่อเสียง ครอบครัวและวงศ์ตระกูล จึงอยากฝากไปบอกว่าอย่าทำลาย เพราะเข้ามาทำงานเพียง 1 ปีเท่านั้น ยังมีภารกิจเร่งด่วนอีกมาก จึงต้องการให้บ้านเมืองสงบ ข่าวที่ปล่อยไปนั้น สตง.ก็ทราบดีว่าปัจจุบันไม่เป็นผู้ว่าการ ธปท.อีกแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องลาออกจากที่แห่งใดอีกแล้ว

ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่จงใจ เพราะเป็นการทำลายชื่อเสียง จึงต้องมาชี้แจงเพื่อปกป้องเกียรติยศของตนเองและวงศ์ตระกูล และยังรู้ด้วยว่า ผู้ว่าการ สตง.ก็รู้ว่าผมไม่ผิด ทำไมแจ้งให้ดำเนินการกับผม และ ณ วันนี้ผมก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติแล้ว จะดำเนินการกับผมได้อย่างไร นอกจากคิดที่จะรังแก

ไม่คิดโทรศัพท์ไปสอบถาม จารุวรรณ


สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.นั้น สังคมตั้งความหวังเอาไว้สูงว่าเป็นผู้ทรงความยุติธรรมที่สุด แต่ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว บ้านเมืองจะเดินไปได้อย่างไร และคาดว่าคงไม่ดำเนินการฟ้องร้อง เพียงแต่ต้องการสื่อให้ สตง.ทราบข้อเท็จจริง และไม่คิดที่จะโทรศัพท์ไปสอบถาม เรื่องดังกล่าวกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. เพราะเป็นเรื่องที่ไม่จริง และไม่มีความคิดที่จะขัดแย้งในการทำงานกับ สตง. ทั้งในเรื่องการซื้อขายหุ้นชินคอร์-ปอเรชั่น และการซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟู เนื่องจากที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนการทำงานของ สตง.อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจสอบการประมูลที่ดินของกองทุนฟื้นฟูฯก็ได้ให้ข้อมูลเต็มที่ แต่ความเห็นอาจแตกต่างกันได้ แต่ตนก็เชื่อมั่นในการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดการเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานการตรวจสอบ ที่มีหลักในการตรวจสอบที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงอะไร ส่วนกรณีที่ สตง.ระบุว่ามีบุคคลและข้าราชการทั้งหมด 14 คน เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกิน 3 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และคาดว่าจะตรวจสอบเสร็จภายใน 1 สัปดาห์

ปลัดคลังเป็นกรรมการ 300 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ปัจจุบันนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ที่มาจากการแต่งตั้งเพียง 3 แห่ง คือธนาคารกรุงไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วนที่เหลือเป็นกรรมการตามที่กฎหมายกำหนด หรือที่มี พ.ร.บ.จัดตั้ง อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบการเป็นกรรมการในกิจการ และกรรมการชุดต่างๆ ของปลัดกระทรวงการคลัง พบว่าปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกิจกรรมต่างๆของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมากถึง 300 แห่ง ปัจจุบันได้กระจายให้ข้าราชการทำหน้าที่แทนหมดแล้ว คงเหลือแต่ที่สำคัญๆ เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนการตรวจสอบข้อมูลของการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้ง 14 คน ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในเบื้องต้นพบว่าไม่มีผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่ง และไม่ขัดกับกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 และ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

มือขวา จารุวรรณ โต้ หม่อมอุ๋ย

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสอบสวนคดีพิเศษ สตง. กล่าวตอบโต้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรที่โจมตีการทำงานของ สตง.ว่าเป็นการใส่ร้ายว่า สตง.แจ้งไปยังส่วนราชการ ให้ทำตามมติ ครม.กำหนดไว้ในเรื่องคุณสมบัติบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจไว้ ไม่ควรเกิน 3 ตำแหน่ง เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานเท่านั้น ยืนยันว่า สตง.ทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้เป็นการกล่าวร้ายใคร เพื่อลดความน่าเชื่อถือ เพราะเราเห็นว่ายุคนี้เป็นยุคปฏิรูปแล้ว ดังนั้น การทำงานอะไรจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ การที่ปลัดกระทรวงไปนั่งเป็นกรรม-การบอร์ดในรัฐวิสาหกิจกว่าสิบแห่ง อยากถามว่า ในทางปฏิบัติจริงๆ จะทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือไม่

คนหนึ่งมีตำแหน่งกว่าสิบหน่วยงานนั้น มันไม่ สมประโยชน์ราชการ สตง.จึงขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ รมว.คลังคิดละเอียดเหลือเกิน แต่ถ้าพบว่าตัว รมว.คลังเองสามารถทำงานได้ไม่มีอะไรบกพร่อง ทาง สตง.เองก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าเห็นว่าตัวเองทำงานได้ ไม่มีปัญหา ก็ไปแก้มติ ครม. สตง.เป็นเพียงแต่ให้ข้อสังเกตเท่านั้น และในหนังสือของ สตง.ก็พูดไปเป็นหลักในการปฏิบัติเท่านั้นเอง นายพิศิษฐ์กล่าว

คตส.มีมติไล่บี้ 12 โครงการทุจริต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะกรรมการ คตส. โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาความคืบหน้าในโครงการต่างๆ ที่ส่อว่าเข้าข่ายในการสร้างความเสียหายแก่รัฐ หลังหารือ นานร่วม 5 ชั่วโมง นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ในโครงการเซ็นทรัลแล็บ ที่มีนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ ประธาน คณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ขณะนี้ คตส.ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้ นายนามได้เสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน การทุจริตโครงการซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาฯของ ปรส. และ บสท. สำหรับในส่วนของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการทั้ง 12 โครงการให้ที่ประชุมได้รับทราบ พบว่ามีความคืบหน้ามาก แต่ได้ มีการประสานขอข้อมูลสำนวนจาก ปปง.และสำนักงานอัยการสูงสุดทั้ง 12 โครงการ ทั้งนี้ทุกเรื่องยังไม่ถึงขั้น การยึดอายัดทรัพย์ และยังไม่ถึงกับมีการเสนอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ เพราะหากตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนจะต้องมีข้อมูล และพยานหลักฐานที่ชัดเจนถึงขั้นแจ้งข้อกล่าวหาได้

ขอข้อมูลการซื้อที่ดินของ คุณหญิงอ้อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง คมช.ได้เร่งรัดการทำงานของ คตส. และ ป.ป.ช. จะมีการหารือกันหรือไม่ นายสัก ตอบว่า ทาง คมช.ยังไม่ได้ติดต่อเพื่อนัดหารือแต่อย่างใด ส่วนการทำงานของ คตส.มีกรอบในการเร่งรัดการทำงานอยู่แล้ว นอกจากนี้ คตส.ไม่จำเป็นต้องรายงานความคืบหน้า ในการทำงานให้กับ คปค.และหน่วยงานใดรับทราบ

นายสักกล่าวว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการตรวจ สอบการซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้รายงานความคืบหน้าด้วย โดยที่ประชุมได้หยิบยกข้อกฎหมายหลายฉบับขึ้นมาพิจารณา หนึ่งในนั้นมี พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 100 และระเบียบสำนักงานที่ดินด้วย ผู้สื่อข่าว ถามว่า ปกติผู้ที่เป็นภรรยาจะทำการประมูลที่ดินจะต้องมีหนังสือการให้ความยินยอมจากผู้ที่เป็นสามีหรือไม่ นายสักตอบว่า การจดสิทธินิติกรรมมีหลักปฏิบัติเรื่องการ ให้ความยินยอมของคู่สมรสด้วย แต่ก็ต้องไปตรวจสอบจาก ระเบียบสำนักงานที่ดินเรื่องสิทธินิติกรรมว่ามีการกำหนด ไว้อย่างไร เมื่อถามว่า รมว.คลังยืนยันความถูกต้องในการ ซื้อที่ดินย่านรัชดาฯของคุณหญิงพจมาน นายสักตอบว่า การที่มีการรับรองอะไรก็แล้ว แต่ไม่มีผลต่อการพิจารณาของ คตส. ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือหน่วยงานรัฐ ถ้ามีข้อมูลก็สามารถส่งมาให้ คตส.ดำเนินการได้

ที่ดินรัชดาเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. กล่าวว่า เรื่องที่ดินย่านรัชดาฯ คิดว่าคงไม่จำเป็นต้องเชิญนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช. มาชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ในมาตรา 100 เกี่ยวกับเรื่องคู่สมรสนายกฯและรัฐมนตรี เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลแต่อยู่ที่หลักวิชาการ เมื่อถามว่า กรณีนี้สามารถเข้าสู่อนุกรรมการไต่สวนได้หรือไม่ นายแก้วสรรตอบว่า ยังต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน การคอรัปชันวันนี้มี 2 รูปแบบ คือ 1. ทุจริตเป็นเรื่องๆ อย่างซีทีเอ็กซ์ ที่ สตง. เคยตรวจสอบอยู่ และ 2. การคอรัปชันโดยกฎหมาย คือ ผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น กรณีที่ดินย่านรัชดาฯ อย่างไร ก็ตามคตส.ยังไม่รู้ว่าทั้งหมดถูกหรือผิดอย่างไร คงต้องตรวจสอบให้ละเอียดก่อน ส่วนกรณีที่ทางธนาคารกสิกรไทยพร้อมจะชี้แจงกรณีการให้กู้เงินจ่ายค่าธรรมเนียม 1.6 พันล้านบาท ในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์นั้น ในฐานะที่รับผิดชอบโครงการนี้ ยินดีที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และหวังว่าหน่วย งานอื่นจะให้ความร่วมมือเช่นนี้เหมือนกัน

อัด อุ๋ย ต้องพร้อมให้สอบที่ดินรัชดา


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯและ รมว.คลัง ระบุว่าซื้อขายที่ดินย่านรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นไปอย่างถูกต้องว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรควรระมัดระวังที่ไปยืนยันถึงความถูกต้อง ความโปร่งใส ในเรื่องที่มีการตรวจสอบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะไปเกี่ยวกับตัวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรด้วย จึงควรแสดงท่าทีว่าพร้อมให้ตรวจสอบเรื่องนี้มากกว่า ส่วนกรณีซื้อขายที่ดินของคุณหญิงพจมาน และการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ถึงกรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำเรื่องสอบถามไปยังกรมสรรพากร เพราะเห็นว่ามีความผิดและความไม่ โปร่งใสชัดเจน

จี้ คตส.สอบโครงการรถดับเพลิงฉาว

วันเดียวกัน ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินคดีและตรวจสอบการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6,687 ล้านบาท โดยนายยุทธพงศ์กล่าวว่า ได้ติดตามการทุจริตในโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2547 และได้ยื่นข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการทุจริตให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้มูลว่า มีบุคคลที่กระทำการทุจริต 7 คน เป็นทั้งนักการเมืองระดับสูงและข้าราชการประจำ ดังนั้น ขอให้ คตส.พิจารณาอย่างเร่งด่วน

นายนามกล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาและจะนำเข้าหารือในที่ประชุมในวันที่ 30 ต.ค. ส่วนการร้องเรียน กรณีดังกล่าวทราบว่าอยู่ที่ ป.ป.ช. จึงจะสอบถามนายกล้านรงค์ จันทิก คตส. ในฐานะ ป.ป.ช. ถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่ดีเอสไอได้ชี้มูลนั้น ไม่ทราบ ดังนั้น ต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง

แบงก์ชาติยอมรับทุจริตสินเชื่อมีจริง

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบฟ้องร้องกล่าวโทษธนาคารกรุงไทยของ ธปท. กรณีที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้แก่บริษัทโกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ในเครือบริษัทกฤษดามหานคร เนื่องจาก ธปท. ตรวจสอบพบว่าในการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทโกลเด้นเทคโนโลยีฯ วงเงิน 9,900 ล้านบาท โดยมีการนำที่ดินย่านสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 4,000 ไร่ มาค้ำประกัน โดยบริษัทโกลเด้นเทคโนโลยีฯระบุว่า จะนำเงินกู้ไปไถ่ถอนที่ดินที่ติดจำนองกับธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท อีก 1,900 ล้านบาท นำมาพัฒนาที่ดินเก่า และไปซื้อที่ดินใหม่นั้น ธปท.พบว่าบริษัทนำไปไถ่ถอนเพียง 4,446 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเกือบ 4,000 ล้านบาท นำไปใช้ผิดวัตถุ ประสงค์ โดยมีกระแสเงินส่วนหนึ่งไปเข้าบัญชีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง 2 รายนั้น นายวีระชาติ ศรี-บุญมา ผู้อำนวยการสำนักคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีนักการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง 2 ราย เข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจริง โดยเป็นนักการเมืองของพรรคการเมืองใหญ่

พบแคชเชียร์เช็คจ่ายนักการเมือง


นายวีระชาติกล่าวว่า จากการติดตามเส้นทางเงินของ ธปท. หลังจากได้รับการปล่อยกู้จากธนาคารกรุงไทยบริษัทโกลเด้นฯได้มีการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คจำนวน 2 ฉบับ คือฉบับละ 100 ล้านบาท 1 ฉบับ และฉบับละ 30 ล้านบาท 1 ฉบับ สั่งจ่ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองดังกล่าว

เท่าที่ติดตามเส้นทางเงิน ธปท.ค่อนข้างมั่นใจว่าสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยมีความผิดปกติจริง จึงได้มี การฟ้องร้องกล่าวโทษไป แต่เดิมนั้นการฟ้องร้องกรณีนี้ได้ส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เรื่องค้างมาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากไม่มี ป.ป.ช. ขณะนี้ คตส.จึงได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาแทน ซึ่งเรื่องนี้ทาง ธปท. ได้ส่งนายอรรคบุษย์ ไกรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายคดี ธปท. ไปเป็นตัวแทนร่วมในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ผู้อำนวยการสำนักคดี ธปท.กล่าว

เดินหน้าควานหาคนร่าง รธน.

ทางด้านความคืบหน้าในการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) กล่าวว่า เรื่องนี้มีกำหนดเวลาอยู่ ก็คิดว่าสามารถทำได้ใกล้เคียงเวลามากแล้ว ขนาดวันเสาร์-อาทิตย์ คณะอนุกรรมการทั้ง 5 คณะยังทำงานกันง่วนเลย และในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

เด็กประสงค์ ป่วนประชุม กมธ.

ที่รัฐสภาวันเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธาน สนช. คนที่หนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราว โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ปรากฏว่าได้มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน เมื่อนางเตือนใจ ดีเทศน์ เสนอชื่อ พล.อ.จรัลเป็นประธาน แต่นายประพันธ์ คูณมี สนช. คนใกล้ชิด น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้คัดค้านทันที ว่า พล.อ.จรัลได้รับเลือกเป็นรองประธาน สนช.คนที่หนึ่งแล้ว น่าจะมีภารกิจมาก ควรเปิดให้คนอื่นที่มีเวลาทำงานเต็มที่ได้รับการสนับสนุนจาก พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน สนช. และนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ โดยให้เหตุผลว่าหลักประเพณีปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย ประธานหรือรองประธานสภาจะไม่มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการ

สุดท้าย พล.อ.จรัล ได้เป็นประธาน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่นายอรรคพล สรสุชาติ สนช. ได้แย้งว่าปกติการร่างข้อบังคับการประชุม ถ้าเป็นของสภาผู้แทนฯจะมีรองประธานสภาฯมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการ จะโดยตำแหน่งหรือตามประเพณีปฏิบัติก็เป็นแบบนี้ นายวิษณุ เครืองาม สนช. ได้กล่าวเสริมว่า เห็นด้วยกับนายอรรคพล เพราะผู้ปฏิบัติคือ ประธานและรองประธานฯ ทำให้ พล.ร.อ.บรรณวิทย์กล่าวประชดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ประธานฯมาเป็นเองเสียเลย ทั้งนี้ นายประพันธ์ได้เสนอชื่อ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ สนช. ขึ้นมาแข่ง แต่ พล.อ.ปานเทพได้ขอถอนตัวไป

ภายหลังการประชุม นายประพันธ์ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเลือก พล.อ.จรัลเป็นประธานฯ โดยไม่มีใครเสนอชื่อคนอื่นเข้าแข่งขัน เพราะท่านมีความเหมาะสม ทั้งในเรื่องความอาวุโส และเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือที่ให้รองประธานคนใดคนหนึ่งมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วน พล.อ.ปานเทพเป็นรองประธานฯคนที่หนึ่ง และนายสังศิตเป็นรองประธานฯคนที่สอง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นเลขานุการฯ และตนเป็นโฆษกฯ

พยายามให้เสร็จก่อนวันที่ 10 พ.ย.

นายประพันธ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการประชุมทุกวัน เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากนัก จะพยายามทำให้เสร็จก่อนวันที่ 10 พ.ย. โดยยึดตามแนวทางของข้อบังคับการประชุม ส.ว.ปี 2544 ประกอบกับข้อบังคับการประชุม ส.ส.ปี 2544 และข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติปี 2534 โดยจะปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ สนช.ชุดนี้ ส่วนใดที่ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 อาจจะมีการตัดออกไปเช่นการร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คน ประกอบด้วย นายวัลลภ นายอรรคพลและตน เพื่อรวบรวมยกร่างข้อบังคับเสนอต่อที่ประชุม หากหมวดใดเสร็จก่อนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯก่อน โดยไม่รอให้เสร็จทั้งร่าง และเพื่อความเหมาะสมต่อสถานการณ์ คณะกรรมาธิการฯจะขอความร่วมมือจากประชาชน อดีต ส.ว. อดีต ส.ส.และสมาชิก สนช. ให้ส่งความเห็นเข้ามาทั้งทางจดหมายและ www.senate.go.th อย่างช้าภายในวันที่ 8 พ.ย.นี้

บี้รัฐสั่งถ่ายทอดสดแถลงนโยบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียวกัน นายชาติวิทย์ มงคลแสน นายกสมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทยและภาคี เครือข่ายการคุ้มครองผู้บริโภค 39 องค์กรภาคประชาชน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคณะกรรมาธิการสามัญยกร่างฯ โดยมีนายวัลลภและนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมาธิการฯ เป็นผู้รับหนังสือ โดยนายชาติวิทย์กล่าวว่า ได้เสนอให้มีคณะกรรมาธิการติดตามการคุ้มครองผู้บริโภคใน สนช. เพราะถือเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดูแลให้ความคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง และนำไปสู่การปฏิบัติด้วย เพราะประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องบริโภค ถูกละเมิด เอารัดเอาเปรียบ หรือความปลอดภัยในการใช้ สินค้าและบริการมานาน
นายวัลลภกล่าวถึงการเปิดประชุม สนช. เพื่อรับทราบการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลสั่งการให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หรือช่อง 9 เพราะถือเป็นการตรวจสอบรัฐบาลเป็นครั้งแรกซึ่งตนเชื่อว่าจะมี สนช.หลายคนร่วมให้ข้อเสนอแนะ และรัฐบาลควรให้สมาชิกอภิปรายได้อย่างเต็มที่ เพราะสมาชิก ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ คงไม่ร่วมอภิปรายแน่นอน

งงรัฐบาลเขียนนโยบายไม่เคลียร์


นายอรรคพลกล่าวว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลในครั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ สนช.ได้อภิปรายเพื่อร่วมเสนอแนะด้วย และถือเป็นโอกาสที่รัฐมนตรีจะได้ชี้แจงรายละเอียดของงานที่จะทำในช่วง 1 ปี เท่าที่ดูร่างนโยบายที่ส่งมาให้เป็นการเขียนในกรอบที่กว้างมาก ไม่มีรายละเอียดของการปฏิบัติ แต่ในบางเรื่องต้องให้ชัดเจนว่ารัฐบาลที่อยู่เพียง 1 ปี จะทำงานอย่างไรเพื่อนำไปสู่ การปฏิบัติต่อไปในอนาคต เช่น นโยบายด้านการต่างประเทศ การปกครอง การกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงแนวการบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียงว่าจะมีแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างไร มีกระทรวงใดเกี่ยวข้องบ้าง เพราะตน เป็นห่วงว่ารัฐมนตรีจะไม่สามารถชี้แจงในรายละเอียดได้ ขณะนี้ยังมีเวลาพอสมควรที่รัฐมนตรีจะไปเตรียมข้อมูลเพื่อตอบสมาชิก โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอรัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องสะสาง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการนักการเมืองที่ทุจริต แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการวางระบบที่จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว สงสัยว่าบางงานที่เร่งโหมประชาสัมพันธ์ ในขณะนี้ เช่น เรื่องหวยบนดิน การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นวาระเร่งด่วน มีความสำคัญมากกว่าการแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อย การสร้างความสามัคคีให้กับคนภายในประเทศหรือ

สุรยุทธ์ ร่วมประชุมสุดยอดที่จีน

เช้าวันเดียวกัน ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยา และคณะ ประกอบด้วย นายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.การต่างประเทศ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ และ พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกเดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองการครบรอบ 15 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน และจีน ที่นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค.นี้

ต่อมา เวลาประมาณ 14.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่มัลติวิชันแนล ฮอล์ โรงแรมลี่หยวน พล.อ.สุรยุทธ์ได้กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนและจีน สมัยพิเศษ ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ทำให้ต้องมารับหน้าที่นายกฯโดยไม่ได้ คาดหมาย แต่เมื่อรับตำแหน่งแล้วขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย และความมั่นคงโดยเร็วที่สุด

จะพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีความยินดีที่ได้มาเยือนนครหนานหนิง ที่เป็นประตูของจีนสู่อาเซียน และยังเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับ จ.ขอนแก่น ของไทย ถือว่า จีนได้พัฒนาการอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา จนกลายเป็นกลไกสำคัญของ เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือในอนาคตระหว่างอาเซียนและจีน ต้องมีแนวทางสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ ต้องร่วมกันสนับสนุนความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐและประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน ต้องพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างจีนกับอาเซียน เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และจัดตั้งศูนย์อาเซียนและจีนที่กรุงปักกิ่ง เพื่อบริการข้อมูลและดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์สำหรับนักธุรกิจ และประชาชนของอาเซียนและจีน

ถกปมเทมาเส็คส์กับ ลีเซียนลุง


เมื่อเวลา 13.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่โรงแรมลี่หยวน สาธารณรัฐประชาชนจีน พล.อ.สุรยุทธ์ได้หารือทวิภาคีกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในโอกาสที่เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่นครหนานหนิง ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า นายลี เซียน ลุง ได้หยิบยกเรื่องกองทุนเทมาเส็คส์ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอร์เรชั่น มาหารือ จึงได้บอกไปว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ การตกลงทางด้านการค้าและการลงทุน ขณะนี้อาจมีปัญหา อยู่บ้างในด้านของกฎหมาย แต่เรื่องทั้งหมดได้นำเข้าสู่ ระบบกระบวนการยุติธรรมแล้ว และรัฐบาลไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ขอให้รัฐบาลสิงคโปร์เข้าใจว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ยืนยันไทยจะมีการเลือกตั้งปีหน้า

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวถึงสถานการณ์การเมือง และความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ด้วยว่า เรื่องนี้ไทยจะต้องทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป ส่วนการยกเลิกกฎอัยการศึก เวลานี้รัฐบาลพิจารณาอยู่ เพราะต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเร็ว ขอยืนยันว่าในปีหน้า จะพยายามจัดให้มีการเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาดูแลการเลือกตั้งให้เป็นธรรมมากที่สุด และจะเดินทาง เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ก่อนการประชุมสุดยอดเอเปค ที่กรุงฮานอย เวียดนาม ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่ชัด


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์