ศอฉ.แจ้งย้ายสถานที่ขอรับความช่วยเหลือ

ศอฉ.เปิดศูนย์ช่วยเหลือวันแรก ผู้ประกอบการแห่ลงทะเบียนแน่น เผยมีค่าปลอบขวัญ 2,000 บาท ค่าประกอบอาชีพ 5,000-10,000 บาท รวมมาตรการลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่สมาคมโรงแรมไทยเตรียม 9 มาตรการเสนอรัฐเยียวยา ทรัพย์สินจุฬาฯ คาดเสียหายผู้เช่า 500 รายรอบสยามสแควร์กว่า 100 ล้าน ขณะที่เซ็นทรัลเวิลด์ระบุใช้เงินประกัน 1.6 หมื่นล้านปรับปรุง คาดใช้เวลา 6 เดือน นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจย่านราชประสงค์จี้รัฐสร้างความเชื่อมั่น สร้างความปรองดอง ห่วงแรงงานกระทบหนัก

 ศูนย์ดังกล่าวจะรับเรื่องร้องทุกข์ ลงทะเบียนผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้น โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามาช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ศอฉ.เพื่อพูดคุยรับเรื่องราวร้องทุกข์ รับเรื่องการฟื้นฟู เยียวยา แก้ไขปัญหาของประชาชน ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงหลายวันที่ผ่านมา

 นายปณิธาน กล่าวว่า ศอฉ.ได้พิจารณาดำเนินการในห้วงเวลาที่เรากำลังฟื้นฟูบ้านเมือง สภาพจิตใจ สภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องหลายวันที่ผ่านมา การดำเนินการนี้ถือเป็นการดำเนินการในเบื้องต้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เข้าสู่กระบวนการรักษาปัญหาหรือสภาพจิตใจ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ศอฉ.จะดำเนินการต่อเนื่อง และชี้แจงทำความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ

ลงทะเบียนแน่นมีค่าปลอบขวัญ 2 พัน

 ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. บริเวณราชประสงค์ ลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ 7 เขต เช่น ราชประสงค์ ราชปรารภ ประตูน้ำ ดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเปิดให้ลงทะเบียบ 3 วัน ที่ห้องศาสนสถาน ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 เวลา 15.00-18.00 น . และในวัน เสาร์-อาทิตย์ที่ 22-23 พฤษภาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น.

 หลังจากนั้นในวันที่ 24-31 พฤษภาคม จะให้ไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขต 7 เขต คือ ราชเทวี ดินแดง ปทุมวัน บางรัก คลองเตย วัฒนา สาทร เวลา 08.00-17.00 น. โดยศูนย์ความช่วยเหลือจะให้ผู้ประกอบการกรอกแบบฟอร์มที่มีรายละเอียด เช่น ชื่อผู้ร้องเรียน สถานประกอบการ ข้อมูลความเสียหาย และความช่วยเหลือที่ต้องการได้รับ และให้ระบุรายละเอียดความเสียหาย เช่น ไฟไหม้ ร้านค้าถูกปิด เพราะเป็นพื้นที่ชุมนุม  

 นายอภิรักษ์ กล่าวว่า อยากรวบรวมข้อมูลให้ได้ครบถ้วนที่สุดว่าเสียหายเรื่องอะไร อยากให้ช่วยเหลืออะไร โดยมีงบประมาณไว้ 2 ส่วน คือ 1. กทม.จะมีงบประมาณ เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้ก็จะมีงบให้ 2,000 บาท หรือที่เรียกว่าค่าปลอบขวัญ 2.งบประกอบอาชีพ 5,000-10,000 บาท ตามเงื่อนไขข้อบัญญัติของ กทม. และในส่วนของรัฐบาลก็อาจจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน  

 ส่วนหลักเกณฑ์การรับเงินนั้นมี 2 ส่วนคือ กทม.จ่ายได้ทันทีถ้าผู้ประกอบการรายใดอยู่ในข้อกำหนดนั้น 2.ดูจากความเสียหาย พิจารณาเป็นรายไป และจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีและเรื่องไหนที่จำเป็นก็ต้องเข้า ครม.

 นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า เราจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วนำมาแยกเป็นประเภท และจะประกาศให้ผู้ประกอบการมารับเงินช่วยเหลือตามประเภทต่างๆ โดยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่จะจ่ายค่าชดเชยซึ่งมีหลายประเภท เช่น ค่าปลอบขวัญ ทุนประกอบอาชีพ   ซึ่งจะจ่ายเงินไม่เกิน 7 วัน หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาษี การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต้องผ่าน ครม.

กทม.ตั้งศูนย์เยียวยาที่ สนง.เขต

  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกทม. เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดจากเหตุจลาจลว่า ได้รับแจ้งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี ในการให้ กทม.เข้าไปสนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พร้อมกันนี้ กทม.จะยกร่างคำสั่งประกาศให้พื้นที่ กทม. 7 เขตเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ได้แก่ คลองเตย บางรัก สาทร ราชเทวี ดินแดง ปทุมวัน วัฒนา โดยตนจะลงนามคำสั่งในวันนี้ (21 พ.ค.)

  นอกจากนี้ กทม.จะตั้งศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนต่างๆ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในทุกด้าน และดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกระดับ ทั้งระดับภาพรวม กทม. เขต และชุมชน โดยตนจะเป็นประธานศูนย์ ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเขตที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ กทม.จะมีการประสานเพื่อของบประมาณในการฟื้นฟูทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจของประชาชน ซึ่ง กทม.จะประเมินตัวเลขงบประมาณที่จะขออีกครั้งหนึ่ง

ทรัพย์สินจุฬาฯ ตั้งโต๊ะรับผู้เดือดร้อน

 รศ.นพ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 21-23 พฤษภาคม ทางทรัพย์สินจุฬาฯ ตั้งโต๊ะให้กลุ่มผู้ค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม การเกิดเพลิงไหม้ย่านสยามสแควร์มาลงชื่อ พร้อมกรอกรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2553 ก่อนจะหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป โดยมีการแบ่งประเภทผู้เดือดร้อนเก่า-ใหม่ หรือมีการจัดระดับความเดือดร้อน เพื่อใช้ประกอบในการให้ความช่วยเหลือ ส่วนรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการช่วยเหลือนั้นคงต้องรอรัฐบาลก่อนว่าจะมีแนวทางหรือมีนโยบายอย่างไร

 รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สิน กล่าวอีกว่า ในพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ มีจำนวนคูหาที่ปล่อยเช่าทั้งหมด 500 ห้อง ส่วนห้องที่มีความเสียหายจากเพลิงไหม้นั้น ประเมินเบื้องต้นที่เสียหายรุนแรงมีประมาณ 80-90 คูหา และทำให้เกิดความสูญเสียด้านค่าเช่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท โดยไม่รวมกับโอกาสในการทำธุรกิจหรือการสร้างรายได้ แต่ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นคงมีการประเมินกันใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ ศอฉ.คืนพื้นที่ให้แก่จุฬาฯ เพราะขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กันคนเข้าอยู่

  "ถ้ายึดตามเอกสารสัญญาก็มีเพียง 500 ราย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามีผู้ค้ารายย่อยอื่นแฝงอยู่ รวมทั้งผู้ค้าที่เป็นการเช่าช่วงหลายๆ ต่อนั้นจะมีการพิจารณาการช่วยเหลือย่างไร และที่เป็นปัญหาที่ทำให้หนักใจสุดๆ ว่าจะช่วยอย่างไร ก็คือกลุ่มผู้เช่าหรือผู้ค้าที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือไม่มีหนังสืออนุญาตประกอบการ กลุ่มนี้ผมว่ามีมากซึ่งอาจจะมากถึงเป็นเท่าหนึ่งของคูหาที่ปล่อยเช่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ" รศ.นพ.เพิ่มยศ กล่าว

  รศ.นพ.เพิ่มยศ กล่าวว่า พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากสุด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณโรงหนังสยาม ที่มีนายกัมพล ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังเป็นผู้เช่า และมีกำหนดหมดสัญญาการเช่าในปีนี้ รวมเนื้อที่ในย่านโรงหนังสยามประมาณ 3-4 ไร่ คงต้องมีการปรับปรุงพื้นที่หรือมีการวางมาสเตอร์แพลนในการพัฒนาพื้นที่ใหม่ และคงต้องหารือร่วมกับผู้เช่าเจ้าของโรงหนังสยามเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน 

  ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินฟินิตี้ มอลล์ จำกัด ผู้บริหารเซ็นเตอร์พ้อยท์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กล่าวว่า แม้เซ็นเตอร์พ้อยท์จะไม่อยู่ในส่วนที่เกิดเพลิงไหม้ แต่ความเสียหายคงเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งจากทรัพย์สินและจากการฉีดน้ำดับเพลิง รวมถึงโอกาสในการทำธุรกิจที่ขณะนี้ลูกค้าได้ยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ ยาวไปถึงเดือนตุลาคมแล้ว ทำให้เสียรายได้ร่วมสิบล้านบาท และหากรวมกับระยะเวลาที่เจ้าของห้างจะปรับปรุงเสร็จคาดว่าใช้เวลากว่า 1 ปีและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าเช่านั้นคาดว่ารายได้จะหายเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว

ใช้เงินประกัน 1.6 หมื่นล้านปรับปรุง

 นายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นของเซ็นทรัลเวิลด์ จากการตรวจสอบเบื้องต้น ในส่วนของพลาซ่าไม่น่าจะกระทบกับโครงสร้างหลัก โรงหนังกระทบเล็กน้อย ส่วนโรงแรมเซ็นทาราไม่กระทบ คาดว่าจะใช้เวลาในการปรับปรุงไม่เกิน 6 เดือน โดยจะนำเงินจากการได้ประกันภัยมาปรับปรุง ซึ่งมีวงเงินประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ต้องรอกรมการประกันภัยตีความว่าจะได้รับเงินทั้งหมดหรือไม่

 ส่วนพนักงานนั้น เซ็นทรัลยังคงจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ และพยายามหางานให้ไปทำในสาขาอื่นๆ แต่พนักงานที่ได้ค่าแรงรายวันอาจได้รับผลกระทบหนัก ในส่วนของการทบทวนอาจจะยืดระยะเวลาการปรับปรุงเซ็นทรัลลาดพร้าวออกไปก่อน แต่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือด้านการเงินของบริษัท

ขอรัฐสร้างความเชื่อมั่น-ปรองดอง

        นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ กล่าวว่า คาดว่าเบื้องต้นกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่อยู่บริเวณย่านราชประสงค์น่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ หากทางการตรวจสอบความปลอดภัย และอนุญาตให้ต่อไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่แล้ว

         "อาคารที่ไม่กระทบมาก ถ้าไฟฟ้าเดินเข้ามาในพื้นที่ก็สามารถเปิดใช้ได้ทันที อาคารโรงแรมจะเป็นแกรนด์ ไฮแอท อินเตอร์คอนเนนตัล ฮอลิเดย์อินน์ โฟร์ซีซั่นส์ อโนมา สามารถเริ่มปฏิบัติการได้ทันที เมื่อไฟฟ้าเข้าพื้นที่" นายชาย กล่าวและว่า จากการเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหาร หากพบว่าอาคารใดมีความปลอดภัยแล้วก็จะให้ต่อไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่ผู้ประกอบการยังอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายทั้งระบบ

         สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐบาลช่วยเหลือนั้น ประกอบด้วย การสร้างความเชื่อมั่นทั้งระบบการปกครอง การเมือง และการดูแลประชาชนโดยรวมให้มีความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์จลาจลเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังต้องดูแลเรื่องความปรองดอง แก้ปัญหาระบบสองมาตรฐาน รวมถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการจัดทำแผนฟื้นฟูแม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการจะมีการจัดทำบ้างแล้ว แต่ก็ต้องทบทวนใหม่หลังมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น คาดว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะเสร็จใน 1-2 วัน และจะนำไปหารือกับภาครัฐต่อไป

         นายชาย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผลกระทบที่มีต่อแรงงานในพื้นที่นั้น รัฐบาลควรจะรีบหาแนวทางช่วยเหลือและชดเชย หลังเหตุจลาจลเกิดขึ้นทำให้ร้านค้าต่างๆ อาจไม่สามารถเปิดดำเนินการเป็นเดือนถึงปี ซึ่งจะทำให้มีแรงงานตกงาน
จี้รัฐแก้ก.ม.การชุมนุมให้รัดกุม

 นายคงพันธุ์ ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการด้านการพัฒนาธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าเกสรพลาซ่า กล่าวว่า หากทหารคืนพื้นที่ให้ กทม.แล้ว ผู้ประกอบการจะเข้าไปตรวจสอบความเสียหาย หลายแห่งได้รับความเสียหายมากจนต้องก่อสร้างใหม่ บางแห่งกลับมาเปิดดำเนินการได้ ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อยอดขายบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่ง ณ วันที่ 3 เมษายน 2553 มียอดขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อเดือน

 "คาดว่าการฟื้นฟูปรับปรุงบริเวณแยกราชประสงค์ให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิมต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี เพราะต้องอยู่ที่การสร้างความมั่นใจให้ประชาชนกลับมาเดินจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายควบคุมการชุมนุมให้รัดกุมและมีมาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อไม่ให้เข้ามาในย่านธุรกิจหรือการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป" นายคงพันธุ์ กล่าว

ศอฉ.แจ้งย้ายสถานที่ขอรับความช่วยเหลือ

 ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศแจ้งล่าสุด ให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบไปแจ้งข้อความช่วยเหลือจากเดิมที่ราบ11ไปที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ชั้น 2 อาคาร B  ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายย่านสยาม สามารถแจ้งได้ที่ชั้นใต้ดินศูนย์หนังสือจุฬาฯ เสาร์-อาทิตย์นี้ เวลา 09.00 -18.00 น.

ส.โรงแรมเตรียมยื่น9มาตรการ

 นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ได้เตรียมยื่นมาตรการเยียวยาประกอบการโรงแรมต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการและพนักงานในอุตสาหกรรมโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง 9 ข้อ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลเจรจากับธนาคารขอยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไปอีก 3 ปีสำหรับธุรกิจที่มีเงินกู้ 2.ขอระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ออกไป 6 เดือน เพราะช่วง 2-3 เดือนนี้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้ แต่ยังจะจ่ายดอกเบี้ย เพียงแต่ขอให้ช่วยชะลอเงินต้น 3.ให้รัฐบาลช่วยจ่ายดอกเบี้ย 3% สำหรับโรงแรมในกรุงเทพฯ ส่วนโรงแรมต่างจังหวัดขอให้ช่วยในอัตรา 2% เหมือนเมื่อครั้งที่มีการปิดสนามบิน ที่รัฐบาลช่วยรายย่อย เอ็มแอลอาร์ -3% 4.ขอให้ยกเว้นการชำระภาษีโรงเรือนของปีนี้ อยากให้รัฐบาลคุยกับกรุงเทพมหานครในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องจ่ายในปีหน้า

 5.ขอยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมโรงแรม 8 บาทต่อห้องต่อปี สำหรับปีนี้ 6.ของบประมาณการฝึกอบรมวงเงิน 12 ล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมา 7.ของดส่งเงินสมทบประกันสังคมจนถึงสิ้นปี ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง 8.ขอให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานโรงแรมในย่านราชประสงค์ ที่ปิดมาตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 100% เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะเดือนหน้าคงยังไม่มีผู้เข้าพัก และ 9.โรงแรมที่ไม่อยู่ในราชประสงค์ แต่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร ขอให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75% ครอบคลุมถึงโรงแรมย่านสีลม

ยันกระทบรุนแรงที่สุดในชีวิต

 นายประกิจกล่าวว่า สมาคมมีแผนจะทำตัวเลขทั้งหมดของมาตรการช่วยเหลือว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใด และจะยื่นข้อเสนอเยียวยาผู้ประกอบการโรงแรมในเร็วๆ นี้ หลังจากทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติ แล้วนายกรัฐมนตรีมีเวลาในการพิจารณา ในส่วนของการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐนั้น ขอให้ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นกลับมาก่อน และรับประกันกับนักท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยจะไม่กลับมามีม็อบอีกแล้ว สมาคมจะทำการตลาดร่วมกับ ททท.อย่างรวดเร็ว ทั้งในตลาดต่างประเทศและปลุกกระแสไทยเที่ยวไทย เพื่อให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นความต้องการอาหารและสินค้าเกษตร

 "เราจำเป็นจริงๆ ที่จะขอให้รัฐบาลช่วยดูแลพวกเราด้วย เพราะครั้งนี้รุนแรงที่สุดในชีวิตการทำงานโรงแรม ตอนไฟแนนซ์ล้มเมื่อปี 2540 การท่องเที่ยวยังไม่กระทบ เพราะค่าเงินบาทถูก นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเมืองไทย" นายประกิจกล่าว

 นายประกิจกล่าวว่า ความเสียหายจากวิกฤติการเมืองครั้งนี้ ขยายวงออกไปนอกแยกราชประสงค์ด้วย โรงแรมในจุดศูนย์กลางของการชุมนุมนั้นต้องปิดไป 10 แห่ง ส่วนโรงแรมในรัศมีใกล้เคียงอีกกว่า 40 แห่ง มีอัตราการเข้าพักเพียง 10% เพราะภาพข่าวที่ออกไปทางสื่อต่างประเทศนั้นน่ากลัวมาก โดยเฉพาะในคืนที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้วเกิดการเผาทั่วเมือง 35 จุด ในต่างจังหวัดก็ได้รับลกระทบ กระบี่ ภูเก็ต พังงา มีอัตราเข้าพักเพียง 40% หลังจากที่ฟื้นตัวหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน แต่ก็มาเจอซ้ำเติมอีกด้วยการเผาเมือง

 "ต้องโปรโมทเรื่องไทยเที่ยวไทย เพื่อให้เกิดเงินหมุนวียนและห่วงโซ่อุปทาน ถ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปไม่รอด จะส่งผลต่อการจ้างงานมาก เพราะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บางโรงแรมไม่มีรายได้เข้ามาเลย" นายประกิจ กล่าว

 นายประกิจ กล่าวต่อว่า เป้าหมายตัวเลขท่องเที่ยวที่รัฐบาลวางไว้ 15.5 ล้านคน คงจะเป็นไปได้ยาก แม้ช่วงต้นปีหลายฝ่ายมองว่าอาจไปได้ถึง 16 ล้านคน ถ้าลดลงไป 10% ก็เหลือ 13.5 ล้านคน แต่ถ้าตกลงไป 20% ก็จะเหลือเพียง 12 ล้านคน ส่วนเป้าหมายรายได้จากเม็ดเงินการท่องเที่ยว 5 แสนล้านบาท คงไม่ได้ อาจจะทำได้ที่ 4.5 แสนล้าน หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้นอาจลงมาเหลือเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น จะกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้จีดีพีของประเทศอย่างมาก

ยันลูกค้าไม่ต้องวิตกแบงก์ไฟไหม้

 นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเบิกถอนเงินสดของสถาบันการเงินเพื่อนำใส่ในเครื่องกดเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ ธปท.ประกาศให้เป็นวันหยุดทำการพิเศษนั้น พบว่ายอดการเบิกถอนของสถาบันการเงินเหล่านี้ยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มียอดการเบิกถอนที่มากผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ถูกทุบทำลายและเพลิงไหม้นั้น ในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคมนี้ สถาบันการเงินคงมีการรายงานตัวเลขเข้ามา 

 "ยืนยันว่าเหตุเพลิงไหม้สถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง 17 สาขา ลูกค้าไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสถาบันการเงินทุกแห่งมีเอกสารสำรองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารและข้อมูลต่างๆ ว่าจะได้รับความเสียหาย และหากลูกค้าต้องการทำธุรกรรมทางการเงินยังสามารถใช้บริการที่สาขาในห้างสรรพสินค้า หรือสาขาอื่นบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เนตแบงกิ้งด้วย" นายสรสิทธิ์กล่าว

 นายสรสิทธิ์กล่าวอีกว่า สถาบันการเงินในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้านั้น ธปท.ไม่ได้มีคำสั่งพิเศษในเรื่องการเปิดให้บริการ เพราะตามปกติสถาบันการเงินเหล่านี้ได้รับอนุญาตเปิดให้บริการวันหยุดทำการได้อยู่แล้ว แต่หากเห็นว่าสถานการณ์ไม่ปลอดภัยในการให้บริการก็สามารถปิดเป็นการชั่วคราวได้ โดยให้ขึ้นกับดุลพินิจของแต่ละสถาบันการเงิน
9 แบงก์พร้อมเปิดสาขาในห้าง

 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมนั้น ขณะนี้สมาคมธนาคารไทยได้รับการยืนยันจากธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย นครหลวงไทย ธนชาต และธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ในการเปิดให้บริการสาขาในห้างตั้งแต่วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยธนาคารอาจจะมีการพิจารณาปิดทำการเร็วกว่าปกติ ตามความเหมาะสมของแต่ละสาขา และวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป สาขาของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเปิดให้บริการตามปกติ

ยกเลิกมาตรการห้ามขนส่งน้ำมัน

 นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ประชุมและออกประกาศยกเลิกการห้ามขนส่งในพื้นที่ 13 เขตด้านในแล้ว ยกเว้นห้ามขนส่งเข้ามาในย่านราชประสงค์ โดยออกประกาศเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ทำให้ผู้ค้าสามารถขนส่งได้ คาดปั๊มน้ำมัน ปั๊มเอ็นจีวี ปั๊มแอลพีจี จะทยอยมีเชื้อเพลิงจำหน่ายตั้งแต่ช่วงเย็นวันนี้ (21 พ.ค.)

 อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวด้วยว่า ในส่วนของปั๊มในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ กทม.ที่ประกาศเคอร์ฟิว แต่ไม่ได้เป็นวันหยุดราชการ จึงมีปัญหาเรื่องไม่มีน้ำมันจำหน่ายด้วยนั้น ขณะนี้กระทรวงได้ออกประกาศผ่อนผันให้รถขนส่งเชื้อเพลิงขนส่งได้ในเวลากลางวันสำหรับ 3 จังหวัดดังกล่าวแล้ว จากที่ปกติวันราชการกำหนดขนส่งได้ในช่วงกลางคืนเท่านั้น จึงคาดว่าจะทำให้ปัญหาไม่มีเชื้อเพลิงเติมหมดลงโดยเร็ว

 “เราได้ออกประกาศห้ามขนส่งใน 13 เขตด้านใน กทม.เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายก็ได้ประกาศยกเลิกโดยเร็ว อาจทำให้ประชาชนเดือดร้อนบ้าง แต่ก็นับว่าเป็นการร่วมมือกันในการป้องกันปัญหาความไม่สงบ” นายพีระพลกล่าว

รถไฟใต้ดิน-บีทีเอสปิดอีก1วัน

 นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายและซ่อมแซมจุดต่างๆ ของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ได้รับผลกระทบจากผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานีคลองเตยและสถานีศูนย์สิริกิติ์ พบว่ามีความเสียหายในส่วนของบันไดเลื่อนทางลง ระบบระบายอากาศ และได้เข้าซ่อมแซมที่สถานีศูนย์สิริกิติ์แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และจะเข้าซ่อมแซมสถานีคลองเตยต่อไป ก่อนจะมีการทดสอบระบบ โดยวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะคงปิดบริการเพิ่มอีก 1 วัน

 ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า เนื่องจากบริษัทต้องใช้เวลาในการสำรวจพื้นที่และทางวิ่งทั้งหมดในระบบรถไฟฟ้าจนแน่ใจว่ามีความปลอดภัย อีกทั้งยังมีการประกาศขยายเวลาห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในยามวิกาล ดังนั้น บริษัท และกรุงเทพมหานคร ได้หารือร่วมกัน และเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรจะหยุดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 1 วัน คือวันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ในทุกสถานี ทั้งสายสุขุมวิท และสายสีลม


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์