คนโกงไม่รอดแน่ คตส.ฟัน 8 โครงการฉาวโฉ่

มีคำสั่งฉบับที่ 30 แก้ไขคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 23 เรื่อง เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30



กรณีที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งแปลงสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไปแล้ว ได้มีคำสั่งฉบับที่ 30 แก้ไขคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 23 เรื่อง เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 พร้อมเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการฯ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการกวาดล้างเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดก่อนนั้น

คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ ประชุมนัดแรกเพื่อวางกรอบการทำงาน โดยได้ข้อสรุปให้นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน และหยิบยกโครงการใหญ่ 8 โครงการขึ้นมาตรวจสอบ

อาจารย์แก้วสรร


คตส.ประชุมวางกรอบการทำงาน

เมื่อเวลา 12.40 น. วันที่ 2 ต.ค. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 หรือที่สื่อมวลชนเรียกย่อๆว่า คตส. โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ก่อนเข้าประชุม นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้จะมีการเลือกประธานและเลขานุการ คตส. รวมทั้งหารือถึงกรอบอำนาจในการทำงาน คาดว่าจะสามารถพิจารณาการได้ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาจ้าง เรื่องภาษี เรื่องการทุจริต และการปฏิบัติราชการของรัฐบาลชุดทักษิณ 2

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ คตส. กล่าวว่า จะพยายามแบ่งงานให้ดี คงต้องทำงานหนักถึง 7 วัน ขณะที่นายนาม ยิ้มแย้ม กรรมการ คตส. กล่าวว่า พร้อมที่จะทำงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยยึดหลักกฎหมาย ยืนยันว่าไม่มีอะไรกังวล


เลือก นาม เป็นประธาน



ภายหลังการประชุม นายนาม ยิ้มแย้ม นายแก้วสรร อติโพธิ และนายสัก กอแสงเรือง กรรมการ คตส. ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสักกล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดชื่อคณะกรรมการอย่างเป็นทางการว่าคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และได้เลือกนายนามเป็นประธาน นายแก้วสรรเป็นเลขานุการ และตนเป็นโฆษก


หยิบ 8 โครงการใหญ่มาสอบ

ทักษิณ ชินวัตร



นายสักกล่าวว่า กรอบการทำงานจะรับเฉพาะเรื่องใหญ่สำคัญและเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้ สตง.เสนอเรื่องต่างๆ 24 เรื่อง เพื่อให้ คตส.พิจารณา โดยที่ประชุมได้คัดเลือกเหลือ 8 เรื่อง เป็นโครงการใหญ่ที่มีหลักฐานชัดเจนและมีมูลบ้างแล้วที่สามารถสอบขยายผลต่อได้ ทั้ง 8 เรื่องอยู่ในความสนใจของสังคม มีมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท

โดย คตส.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาช่วยงาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กรรมการ คตส.จะแบ่งกันไปช่วยดูแลการทำงานของคณะอนุกรรมการ หากเป็นเรื่องเฉพาะด้านก็จะเชิญผู้รู้ที่เกี่ยวข้องมาเป็นอนุกรรมการอีก และถ้าสอบขยายผลเพิ่มเติมตามข้อกล่าวหาจนมีมูลชัดเจนก็จะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง หากเรื่องใดสามารถชี้แจงได้และมีพยานหลักฐาน ก็จะคัดเรื่องเหล่านั้นออก แต่ถ้าเรื่องใดที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงไม่ได้และมีข้อมูลความผิดชัดเจน คตส.จะส่งเรื่องไปยังอัยการหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง


ทุจริตเชิงนโยบายก็โดนด้วย



นายสักกล่าวว่า ที่ประชุมได้วางกรอบการทำงานว่า ในไตรมาสแรก คงต้องมีการดำเนินการที่นำไปสู่ความชัดเจนในเรื่องสำคัญได้ โดยในแต่ละเดือนจะให้คณะกรรมการ 3 กลุ่มเข้ารายงานความคืบหน้ากับ คตส.เป็นช่วงๆ

ด้านนายแก้วสรรกล่าวว่า การหารือครั้งนี้ แม้บางเรื่อง คตส.จะไม่ได้หยิบมาพิจารณา ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งคดี หาก สตง. หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบสอบสวนจนมีหลักฐานชัดเจน คตส.ก็จะหยิบมาพิจารณา ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้กำหนดเข็ม คือต้องมีการกระทำในเรื่องที่เป็นปัญหาคลางแคลงใจ ทั้งที่ปรากฏในสื่อและวงการเมือง โดยความคลางแคลงใจนั้น ต้องระบุถึงความร้ายแรงอุกฉกรรจ์ มีการใช้อำนาจหน้าที่ และถ้าไม่ใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่เด็ดขาดก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งหมายถึงการทุจริตเชิงนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีการกระทำที่ซ้ำซาก กระทรวงนี้ทำทั้งปีทั้งชาติ ทำให้เกิดความเสียหาย และยังไม่ได้รับการคลี่คลาย เช่นการทุจริตการเกษตรทั้งหลาย


ลั่นเล่นงานระดับพญานาค



นายแก้วสรรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรื่องที่อยู่ในข่ายที่ คตส.จะรับคือเรื่องที่เริ่มสอบไปแล้ว และมีข้อมูลเกือบสมบูรณ์ที่อยู่ใน สตง.เกือบ 30 เรื่อง เราจะนำมาตรวจสอบให้สมบูรณ์โดยพลัน นอกจากนี้จะนำข่าวเจาะในสื่อมวลชนและเรื่องการร้องเรียนในโครงการใหญ่ ปัญหาในสหภาพต่างๆที่ไม่เข้าเกณฑ์ใน สตง. เราก็จะรับมาพิจารณา ดังนั้น ขอยืนยันว่า การที่มี คตส.ขึ้นมาตรวจสอบในจุดนี้ เนื่องจาก ป.ป.ช.ได้หยุดการทำหน้าที่ไปนานและมีเรื่องค้างอยู่จำนวนมาก

จึงต้องมีคตส.มาช่วย สรุปแล้ว วันนี้เขาให้เราวิ่ง 100 เมตร หมายความว่าเราอย่าไปยุ่งกับลูกน้ำ เขาให้เราเล่นกับพญานาค โดยเราจะทำงาน 3 วันใน 1 สัปดาห์ ส่วนบรรดาผู้พิพากษาในกรรมการชุดนี้ ผู้บังคับบัญชาหยุดจ่ายสำนวนเพื่อให้ทำงานเต็มที่ เป็นการวิ่งแข่ง 100 เมตรกับคน 11 คน แข่งกับเวลา


เผยชื่อ 8 โครงการฉาว



มีรายงานว่า สำหรับ 8 โครงการในสมัยรัฐบาลชุดก่อนที่ คตส.มีมติจะเข้าไปตรวจสอบนั้น ประกอบด้วย

1. โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท

2. โครงการงานก่อสร้างจ่ายกระแสไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 2,000 ล้านบาท

3. โครงการจัดซื้อกล้ายาง 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท

4. โครงการจัดซื้อเซ็นทรัลแล็บของกระทรวงเกษตรฯ มูลค่า 1,560 ล้านบาท

5. โครงการแอร์พอตลิงค์ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จ่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้แทนบริษัทเอกชนคู่สัญญา มูลค่า 1,666 ล้านบาท

6. โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6,687 ล้านบาท

7. กรณีที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่าจำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วได้รับผลประโยชน์

8. กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กโดยไม่มีการเสียภาษี


คดีฟ้องสรรพากรย้อนศรตระกูลชิน



ส่วนความคืบหน้าในคดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร ขอให้รับเงินชำระค่าภาษีอากรจากการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เพราะเห็นว่า เจ้าพนักงานภาษีอากรไม่รับเงินคืนเป็นการไม่ชอบ การส่งเงินคืนมีเจตนาทุจริตแอบแฝง

มุ่งประสงค์ต่อผลหวังนำกรณีนี้ไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์แก่การไม่ชำระภาษีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ของคนในตระกูลชินวัตรนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้หลังจากที่นายเรืองไกรยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานภาษีอากร ต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เพราะคดีอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง นายเรืองไกรจึงได้นำเรื่องไปยื่นฟ้องศาลภาษีอากรกลาง

โดยศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2549 และนัดชี้สองสถานวันที่ 25 ก.ย. 2549 ปรากฏว่า สำนักงานอัยการคดีภาษีอากรได้ยื่นคำให้การว่า คดีดังกล่าวมิใช่คดีข้อพิพาทภาษีอากร ศาลภาษีฯไม่มีอำนาจพิจารณาตามมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร

แต่เป็นการฟ้องเรื่องเรียกทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่ง จึงต้องขึ้นศาลแพ่ง องค์คณะผู้พิพากษาศาลภาษีฯจึงมีคำสั่งส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ คาดว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งในช่วงต้นปี 2550

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์