เผยยกร่าง กม.คำนำหน้าเสร็จแล้วยันให้สิทธิ์ ช.-ญ.แปลงเพศ

เผยยกร่าง กม.คำนำหน้าเสร็จแล้วยันให้สิทธิ์ ช.-ญ.แปลงเพศ

นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมาธิการสตรี ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าววันนี้ (30 ก.ย.) ว่า การยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำนำหน้านามบุคคลเสร็จแล้ว สาระสำคัญ ได้แก่ หญิงที่จดทะเบียนแล้ว จะใช้คำนำหน้าว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ หญิงที่จดทะเบียนสมรสและเปลี่ยนคำนำหน้านามเป็น “นาง” และต่อมาจดทะเบียนหย่า จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ

ประธานอนุกรรมาธิการสตรีฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังให้สิทธิกับชายและหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” และ “นาย” ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับเพศสภาพใหม่ และลดปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม โดยระบุว่า ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศหญิงแล้ว ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ได้ และหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศชายโดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการทางการแพทย์ และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” ได้ ขณะนี้กำลังขอรายชื่อสมาชิก สนช.รับรองไม่น้อยกว่า 25 ชื่อ เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุม สนช.หากที่ประชุมรับหลักการ และรัฐบาลเห็นสอดคล้อง ตั้งกรรมาธิการร่วม ถ้ารัฐบาลไม่รับหลักการ สนช.สามารถเสนอเองได้

"คนที่แปลงเพศแล้ว ถ้าคำนำหน้าเป็นอีกเพศ จะถูกดูถูกดูแคลน หางานทำมักถูกปฏิเสธ เพราะคำนำหน้าไม่เหมือนกับสภาพที่เป็นอยู่จริง มีปัญหาเวลาเดินทางไปต่างประเทศ บางประเทศไม่ให้เข้าเลย จึงคิดว่า ผู้ชายใน สนช.หลายคนใจกว้าง ที่จะมองว่า เป็นเรื่องของการให้สิทธิ โอกาส กับทั้งผู้หญิงได้มีทางเลือก ให้คนที่แปลงเพศได้มีโอกาสใช้คำนำหน้านามที่ตรงกับเพศสภาพ" นางจุรี กล่าว

ประธานอนุกรรมาธิการสตรีฯ  กล่าวต่อไปว่า กระบวนการรับรองการแปลงเพศจะทำอย่างรอบคอบ มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ร่วมพิจารณา มีการกำหนดระยะเวลาว่าต้องแปลงเพศมาแล้วกี่ปี จึงจะเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องกำหนดรายละเอียดหลังจากที่กฎหมายผ่านความเห็นชอบ หากสงสัยตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะระบบทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทยใช้ระบบออนไลน์

ด้าน น.ส.ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กำลังรวบรวมรายชื่อให้ได้มากที่สุด ล่าสุดมีกว่า 2,000 รายชื่อแล้ว สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว และวันที่ 3 ตุลาคม จะนำรายชื่อไปยื่นให้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน สนช.ขอให้สมาชิก สนช.ช่วยผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว และต้องให้สิทธิคนที่ยังไม่แปลงเพศด้วย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว มีคนที่ยังไม่แปลงเพศมากกว่า


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์