เงินบาทยังคงแข็งค่าตามแรงความเชื่อมั่น

กรุงเทพฯ 2 พ.ค.-บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แจ้งว่า ภาวะการซื้อขายเงินตลาดเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดเงินที่ยังมีอยู่มาก โดยธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือนต่อเนื่องถึงวันหยุดยาว โดยอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นอยู่ในกรอบ 1.17-1.18 เทียบกับ 1.18 ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะ 1, 7 และ 14 วัน ปรับตัวอยู่ในกรอบ 1.2488-1.25 เทียบกับ 1.2489-1.25 ในสัปดาห์ก่อนหน้า ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในกรอบร้อยละ 0-0.25 ต่อไป ในการประชุมเมื่อวันที่ 28-29 เม.ย. 2552 หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับดังกล่าวในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่เฟดมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น
 
ส่วนเงินบาทในประเทศ (Onshore) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคในช่วงต้นสัปดาห์ ซึ่งถูกกดดันจากความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก อย่างไรก็ตาม แรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำกำไรในช่วงต่อมาได้ช่วยทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดช่วยบรรเทาความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หนุนความต้องการเสี่ยงของนักลงทุน ค่าเงินในภูมิภาค รวมทั้งค่าเงินบาท สำหรับในวันพฤหัสบดี เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับประมาณ 35.23 บาท (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 35.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า(24 เมษายน)
 
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ค.52 ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ

นอกจากนี้ก็จะมีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงวันหยุดยาวอีกด้วย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้ระดับร้อยละ 1.25 อย่างต่อเนื่อง
ส่วนเงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 35.10-35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ความเคลื่อนไหวของการเมืองในประเทศ ตลอดจนทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ ทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจขึ้นอยู่กับผลการทดสอบภาวะวิกฤติของสถาบันการเงินสหรัฐ (4 พ.ค.) ประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐ ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ อาทิ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ข้อมูลสตอกสินค้าภาคค้าส่งเดือนมีนาคม ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM ภาคบริการเดือนเมษายน ตลอดจนข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาส 1/2552 อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์