หวัด2009ติดเร็ว-ไม่แรง อนาคตฝังตัวเป็นโรคประจำถิ่น


ปัจจุบัน "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1" กลายเป็นโรคระบาดที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ อยากรู้ว่าคืออะไร เนื่องด้วยอารามตกใจ แตกตื่น และตื่นกลัว ตามสภาพตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ขยายจำนวนเป็นหมื่นๆ รายใน 70 กว่าประเทศอย่างรวดเร็ว

ตามปกติ "ไข้หวัดใหญ่" มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด

เรียกว่าชนิด เอ, บี และซี

แต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อยๆ ออกไปเป็นชนิดย่อย (subtype) แทนด้วย เอช (Hemagglutinin : H) และ เอ็น (Neuraminidase : N)  

ซึ่ง เอช จะมีตั้งแต่ 1-15 และ เอ็น มีตั้งแต่ 1-9 โดยพันธุ์ที่ดุและน่ากลัว คือ "สายพันธุ์เอ" เพราะมันสลับจับคู่ได้ถึง 135 ชุด ซึ่งธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอด

การเกิดไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พูดง่ายๆ ก็คือ การดิ้นรนปรับตัวของเชื้อไวรัส จนกลายพันธุ์นั่นเอง

ภาพการระบาดไปทั่วโลก และจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นปุบปับ ดูจะสร้างความน่ากลัวให้กับโรคนี้เป็นเท่าทวีคูณ เป็นธรรมดาเมื่อเกิด "โรคระบาดใหม่" และติดต่อได้รวดเร็ว มาตรการต่อสู้ สกัด ยับยั้งโรคจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มพิกัด

บางประเทศอาจถึงขั้นห้ามการเดินทางเข้าประเทศ ปิดโรงเรียน สถานที่ราชการ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ จึงเหมือนฉายภาพซ้ำความน่ากลัวของโรคให้รุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง

"ระยะแรก" ของการระบาดไม่มีใครทราบได้ว่า เชื้อรุนแรงแค่ไหนอย่างไร แต่ระหว่างการระบาดนี้ นักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างหนักเพื่อวินิจฉัยเชื้ออย่างละเอียดทุกอณู ร่วมไปกับการเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่เกิดขึ้น ทำให้เริ่มมีความชัดเจน และถือเป็นความโชคดีของทุกคน ว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในครั้งนี้มีความรุนแรงต่ำ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีอำนาจในการติดต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นักระบาดวิทยาแถวหน้าของประเทศไทย อธิบายว่า

เมื่อเปรียบเทียบนัยสำคัญที่จะเป็นตัวบอกว่าโรคนี้น่ากลัวมากเพียงไหน คือ อัตราการตาย พบว่า

อัตราการตายของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อยู่ที่ ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาล ที่มีอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 0.75-1 และเมื่อเปรียบเทียบกับไข้หวัดนก ในช่วงเวลา 3 ปีมีผู้ป่วยประมาณ 400 คน แต่มีอัตราการตายถึงร้อยละ 60

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบอำนาจในการติดเชื้อพบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีอัตราติดต่อจากคนสู่คนได้ 1 ต่อ 1.5 คน ขณะที่โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ติดต่อได้ 1 ต่อ 3-4 คน โรคหัดติดต่อได้ 1 ต่อ 10 คน ทำให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคได้ชัดเจนขึ้น

น.พ.คำนวณ ระบุว่า เราคงห้ามคนไม่ให้ป่วยไม่ได้ ที่ผ่านมาในแต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก 1,000 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยนอกประมาณ 100-200 ล้านคน เป็นผู้ป่วยใน 3-5 ล้านคน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 250,000-500,000 ราย

ส่วนสถานการณ์ของประเทศไทยพบผู้ป่วย 3-4 ล้านคน เป็นผู้ป่วยนอก 900,000 คน ผู้ป่วยใน 36,000 คน มีผู้เสียชีวิต 320 รายต่อปี เกือบทั้งหมดมีโรคประจำตัว เป็นผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก

"การที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงของการระบาดตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน หญิงตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป"

ก่อนหน้านี้ ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ ได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

ความรุนแรงเหมือน "ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล" ติดต่อจากคนสู่คน โดยการไอ จาม ระยะฟักตัว 1-4 วัน อาจนานถึง 7 วัน ระยะแพร่เชื้อก่อนมีไข้หนึ่งวันจนถึงมีอาการไปแล้ว 7 วัน

จากข้อมูลของสหรัฐอเมริการายงานว่า ร้อยละ 75-80 เป็นในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี คนอายุเกิน 60 ปี ประมาณ 1 ใน 3 มีภูมิต้านทาน

อาการของโรค จะมีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน กินน้อย หอบ หายเองใน 3-5 วัน ผู้ป่วยร้อยละ 95 หายป่วยได้เองโดยไม่ต้องทานยาต้านไวรัส

แต่มีกลุ่มคนที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนมากกว่าปกติ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หญิงมีครรภ์ ผู้มีโรคเรื้อรัง ภูมิต้านทานต่ำ กินยากดภูมิ กินยาแอสไพริน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกยังไม่พบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง ทำให้หลายคนคงมีคำถามเกิดขึ้นในใจ ว่า

แล้วเหตุใดถึงมีการป้องกันอย่างเข้มงวด จนเหมือนเป็นโรคร้ายแรง!?

น.พ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค นักระบาดคนสำคัญของไทยและเอเชีย ให้เหตุผลว่า

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก เพราะเป็นช่วงครบรอบการระบาดครั้งใหญ่ โดยไม่มีใครทราบว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะเป็นเชื้ออะไร รุนแรงมากน้อยเพียงไหน จึงทำได้เพียงเฝ้าระวังและจับตาการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส จนการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดแถบประเทศสหรัฐอเมริกาตอนใต้และเม็กซิโก  

การระบาดครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนของทั่วโลก ที่ต้องตื่นตัวรับกับสถานการณ์และสร้างมาตรการป้องกัน

แต่ในความตื่นตัวอาจสร้างความสับสนและไม่เข้าใจให้ประชาชน จนทำให้เกิดความกลัว

ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีมาตรการใดรองรับเลย หากโรคมีความร้ายแรง เชื้อมีอันตราย เมื่อเกิดการระบาดไปทั่วโลกก็จะสร้างความสูญเสียอย่างมาก!

เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้มีข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุนชัดเจนว่า เชื้อที่พบไม่รุนแรงเท่าที่คิด คล้ายไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทั่วไปเท่านั้น ซึ่งต่อจากนี้การรักษา-การเฝ้าระวัง ก็จะเหมือนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

แต่ก็มีข้อถกเถียง ว่า หากไม่รุนแรงแล้วทำไม WHO จึงยกระดับสูงสุด?

คำอธิบาย คือ ประกาศเพิ่มระดับการแพร่ระบาดโรคไข้หวัด 2009 ของ WHO ที่เพิ่มจากระดับ 4 เป็น ระดับ 5 และ 6 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด ความจริงแล้วนิยามของระดับสถาน การณ์ของ WHO หมายถึง พื้นที่ที่พบว่ามีการระบาดของโรค ไม่ได้หมายถึงความรุนแรงของโรค ซึ่งหลายประเทศมีการท้วงติงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพราะผลของมันสร้างผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม

"ขณะนี้ในหลายประเทศกำลังปรับมาตรการเฝ้าระวังโรคให้สอดคล้องกับความรุนแรงของโรค หลังจากพบว่าโรคไม่ได้มีความรุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น ทั้งสหรัฐ เม็กซิโก ออสเตรเลีย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยหลักพัน ก็เลิกปิดโรงเรียน หรือสถานที่สาธารณะ เพราะไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์อะไร" น.พ.ศุภมิตรกล่าว

ด้าน รศ.(พิเศษ) น.พ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กระ ทรวงสาธารณสุข ทีมควบคุมโรคที่เข้มแข็งของไทย ช่วยสรุปว่า

จากการเกิดโรคระบาดใหม่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พบว่า การระบาดจะมีต่อเนื่องนานประมาณ 12-13 เดือน ถึงเข้าสู่ภาวะปกติ กล่าวคือ ประชาชนเริ่มมีภูมิต้านทานโรค มีการพัฒนายารักษา-วัคซีน ในที่สุดจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ที่รักษาและดูแลไม่ต่างกัน

แม้แนวโน้มโรคจะไม่รุนแรง แต่นักระบาดวิทยา นักวิทยาศาสตร์ ก็ยังต้องจับตาเฝ้าระวังเชื้อไวรัสต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะมีแนวโน้มก่อโรคที่รุนแรงขึ้นอีกในอนาคต

การระบาดหนนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ซ้อมรับมือไปพร้อมๆ กัน สร้างความรู้ และใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ทั้งตัวเองและผู้อื่นไม่ให้เป็นผู้แพร่และรับเชื้อ เช่น การใส่หน้ากากเมื่อป่วย ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชูหรือแขนเสื้อของตนเอง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ  

ที่สำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้องพยายามหาความรู้เพื่อป้องกันตัวเอง

แค่นี้โรคระบาดก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด!

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์