สธ.เตรียมหารือสถานการณ์ระบาด อี.โคไล ชนิดรุนแรง หลังพบติดเชื้อจากคนสู่คน


          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ถึงมาตรการภายหลังเยอรมนีพบการติดเชื้ออี.โคไล โอ 104 ระหว่างคนสู่คน ว่า ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. กรมควบคุมโรคจะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว เพื่อประเมินการออกมาตรการสำหรับประเทศไทย ว่าควรมีทิศทางอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงใช้มาตรการเดิม ทั้งการจัดพิมพ์คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากยุโรป โดยจะประสานการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยไปยัง 13 สายการบิน ในการแจกให้กับผู้โดยสาร บนเครื่องบินที่บินกลับประเทศไทยจากประเทศ เยอรมนี ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร

โดยในคำแนะนำจะระบุว่า หลังจากออกจากประเทศดังกล่าวและมีอาการดังต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่งภายใน 7 วัน ทั้งอุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีมูกเลือดปน หรือปวดท้อง อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย หรือสงสัยว่ามีภาวะไตวาย ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที รวมไปถึงขอความร่วมมือผู้เดินทางกลับประเทศไทยควรหลีกเลี่ยงนำผักผลไม้จากประเทศแถบยุโรปพกกลับมาด้วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมาตรการดูแลอยู่แล้ว


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนแนวโน้มมาตรการตรวจและกักผู้เดินทางมาจากยุโรป ขอยืนยันว่าไม่มีการดำเนินการ เนื่องจาก

1.กรณีโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย เหมือนพวกไข้หวัด 2009

และ 2.โรคดังกล่าวมีระยะฟักตัวประมาณ 2-10 วัน ทำให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อค่อนข้างลำบาก เนื่องจากอาจไม่แสดงอาการ การจะกักตัวไว้คงไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรคจากการติดเชื้ออี.โคไล ชนิดนี้ นับเป็นโรคทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งโรคกลุ่มนี้แม้จะติดต่อได้จากอาหารและน้ำ แต่ไม่ใช่ติดต่อกันได้ง่ายๆ เนื่องจากการติดเชื้อจะต้องมาจากความใกล้ชิดที่สัมผัสเอาเชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งของต่างๆ และเผลอนำเข้าสู่ปาก โดยไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจและการสัมผัสทางผิวหนัง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อได้อย่างง่ายดาย เพราะหากทุกคนดูแลสุขลักษณะให้ดี ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือปรุงอาหาร กินร้อน และใช้ช้อนกลาง ก็สามารถห่างไกลโรคได้ไม่ยาก


“ต้องขอย้ำว่าการติดเชื้อตัวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ยกตัวอย่าง ครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วย อาจสัมผัสเชื้อโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ตนเองก็ไม่ดูแลสุขลักษณะให้ดี ไม่ล้างมือให้สะอาดอย่างเพียงพอก็มีโอกาสติดเชื้อได้   หรือในกรณีผู้ปรุงอาหาร ซึ่งหากติดเชื้อด้วยแล้ว และไม่ดูแลความสะอาดในการประกอบอาหารโอกาสแพร่เชื้อจากการปรุงอาหารย่อมเกิดขึ้น” รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์