สกัดหมูแพง สั่งลุยจับวันนี้

ราคาหมูยังแพงไม่เลิก "พาณิชย์"เตรียมออกมาตร การควบคุมราคา-ปริมาณหมู

สั่งห้ามแต่ละภูมิภาคขายเกินราคาที่กำหนด ภาคกลางขายไม่เกินก.ก.ละ 152 บาท ภาคเหนือ-อีสานไม่เกิน 157 บาท ภาคใต้ไม่เกิน 162 บาท หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสน ไม่ติดป้ายราคาหน้าฟาร์มโดนปรับอีก 1 หมื่น หากส่งออก-เคลื่อนย้ายเข้า 24 จังหวัดติดชายแดนต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ แย้มเป็นแค่มาตรการชั่วคราว 3-4 เดือน คาดมีผลบังคับใช้วันนี้ แผงหมูครวญราคาพุ่งไม่หยุด ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนกินไก่-ปลาแทน บางร้านต้องปิดตัวชั่วคราวหลังรับภาระขาดทุนไม่ไหว

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า
 
ที่ประชุมกกร.เชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมชำแหละสุกรแห่งประเทศไทย มาชี้แจงสถานการณ์ราคาและปริมาณผลผลิตของสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกร ซึ่งจากการรับฟังและพิจารณาข้อมูลพบว่า ปัญหาสุกรแพงเกิดจากผลผลิตปัจจุบันลดลง 25-30 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมจะมีวันละ 40,000 ตัว เหลือเพียงวันละ 32,000 ตัว โดยลดลงจาก 12.5 ล้านตัวต่อปี เป็น 10 ล้านตัวต่อปี เนื่องจากเกิดโรคระบาดในสุกร ส่งผลทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการลักลอบส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก เพราะราคาขายในต่างประเทศจูงใจกว่าราคาภายใน ซึ่งก่อนหน้านี้กรมการค้าภายในได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาด้วยการประกาศราคาจำหน่ายปลีกและควบคุมการขนย้ายสุกรมีชีวิตในพื้นที่ 24 จังหวัด ที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ราคาสุกรก็ยังแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายยรรยง กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น กกร.จึงมีมติให้ออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติม โดยแบ่งออกเป็นมาตรการด้านปริมาณและด้านราคา
 
ซึ่งเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง สำหรับมาตรการด้านราคามี 2 มาตรการ คือ 1.เตรียมออกประกาศ กกร. กำหนดราคาควบคุมหรือราคาจำหน่ายสูงสุด ขายส่งและขายปลีก สำหรับสุกรมีชีวิต สุกรชำแหละและชิ้นส่วนเนื้อสุกร โดยห้ามไม่ให้ขายเกินราคาควบคุมที่กกร.ประกาศ ซึ่งจะแบ่งตามภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตไม่เกินกิโลกรัม (ก.ก.) ละ 81 บาท ขายส่งสุกรชำแหละผ่าซีกไม่เกินก.ก.ละ 93 บาท ขายส่งชิ้นส่วนสุกรเนื้อแดงไม่เกินก.ก.ละ 137 บาท และขายปลีกสุกรเนื้อแดง (ไหล่ สะโพก) ไม่เกินก.ก.ละ 152 บาท ส่วนภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตไม่เกินก.ก.ละ 85 บาท ขายส่งสุกรชำแหละผ่าซีกไม่เกินก.ก.ละ 97 บาท ขายส่งชิ้นส่วนสุกรเนื้อแดงไม่เกินก.ก.ละ 142 บาท และขายปลีกเนื้อแดง (ไหล่ สะโพก) ไม่เกินก.ก.ละ 157 บาท และภาคใต้ ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตไม่เกินก.ก. ละ 87 บาท ขายส่งสุกรชำแหละผ่าซีกไม่เกินก.ก.ละ 99 บาท ขายส่งชิ้นส่วนหมูเนื้อแดงไม่เกินก.ก.ละ 147 บาท และขายปลีกเนื้อแดง (ไหล่ สะโพก) ไม่เกินก.ก.ละ 162 บาท หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายยรรยง กล่าวต่อว่า 2.กำหนดให้ฟาร์มเลี้ยงสุกรติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสุกรเป็นหน้าฟาร์ม เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้ติดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก
 
เฉพาะสุกรเนื้อแดงหน้าเขียง ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท โดยมาตรการทั้งหมดคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของมาตรการควบคุมราคาจำหน่ายสูงสุดจะบังคับใช้เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าสถานการณ์ราคาและผลผลิตสุกรจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าภายใน 3- 4 เดือนราคาสุกรจะคลี่คลายลง และมั่นใจว่าราคาขายที่ถูกกำหนดขึ้นเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยราคาควบคุมดังกล่าวเป็นราคาที่ผู้ขายยังคงมีกำไรประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์

นายยรรยง กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการด้านปริมาณมี 3 มาตรการ
 
คือ 1.กำหนดให้ผู้ประกอบการในส่วนกลางต้องขออนุญาตส่งออกสุกรจากเลขาธิการ กกร. หรืออธิบดีกรมการค้าภายในก่อน จึงจะสามารถส่งออกได้ ส่วนผู้ประกอบการในภูมิภาคต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) 2.กำหนดให้ผู้ที่ครอบครองสุกรมีชีวิตตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และซากสุกรตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บต่อกรมการค้าภายในทุก 15 วัน และ 3.ควบคุมการขนย้ายเพิ่มเติม โดยกำหนดให้การขนย้ายสุกรมีชีวิตตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไปเข้าไปในพื้นที่ 24 จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องขออนุญาตกับการค้าภายในจังหวัดก่อน ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นจากมาตรการเดิม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าโครงการหมูธงฟ้า โดยนำเนื้อสุกรราคาถูกกว่าท้องตลาดมาจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ ในราคาก.ก.ละ 120 บาท ยกเว้นภาคใต้ โดยมอบหมายให้การค้าภายในจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดดำเนินการโดยเร่งด่วน

ด้าน น.พ.นพพร วายุโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาธุรกิจ บริษัท เบทาโกร จำกัด กล่าวว่า
 
กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาสุกรมีชีวิตก.ก.ละ 81 บาท ถือว่าสะท้อนราคาตลาดที่ก.ก.ละ 79-81 บาท แต่เรื่องของการกำหนดราคาสุกร รัฐบาลควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะจะส่งผลให้เนื้อสุกรราคาปรับลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าใช้มาตรการเข้าดำเนินการ เนื่องจากขณะนี้เกิดโรคระบาดในสุกร ส่งผลให้สุกรหายไปจากตลาดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาหน้าตลาดปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น หากเกษตรกรปรับระบบการเลี้ยงได้ดีขึ้นจะทำให้วงจรการเลี้ยงสุกรเริ่มดีขึ้นตามมา เพราะโรคในสุกรส่วนใหญ่จะเกิดจากการเลี้ยงและการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าบริษัทเบทาโกรไม่ได้กักตุนเนื้อสุกร เนื่องจากไม่ได้ขายเนื้อสุกรเข้าตลาด แต่จะขายให้พ่อค้าท้องถิ่น

นายกิดดิวงศ์ สมบุญธรรม เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาสุกรมีชีวิตที่ก.ก.ละ 81 บาท เกษตรกรรับได้ ซึ่งยังสูงกว่าต้นทุนที่เฉลี่ยก.ก.ละ 75 บาท แต่เมื่อกำหนดเพดานสูงสุดของราคาแล้วก็ควรจะกำหนดราคาต่ำสุดด้วย กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณาในช่วงที่ราคาเนื้อสุกรตกต่ำ และควรทบทวนสถาน การณ์และราคาในทุก 2 เดือน

ที่ จ.อ่างทอง บรรยากาศภายในตลาดสดเป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่มีประชาชนมาจับจ่ายซื้อเนื้อหมูไปรับประทาน
 
เนื่องจากมีราคาแพงกว่าปกติเป็นอย่างมาก โดยนางรำพึง พร้าหิรัญ อายุ 47 ปี แม่ค้าขายหมูกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีลูกค้ามาซื้อเนื้อหมู ปกติจะขายได้วันละประมาณ 2-3 ตัว แต่ตอนนี้ซื้อมาขายเพียงตัวเดียวยังขายไม่หมด ทำให้ต้องนำเนื้อหมูที่เหลือไปแช่เย็น เพื่อเอาออกมาขายวันต่อไป ส่วนราคาหมูที่ซื้อจากหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ราคาหาบละ 8,000 บาท จากปกติที่เคยซื้อราคาหาบละ 5,000 บาทเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องขายเนื้อหมูในราคาที่สูงขึ้น

ที่ จ.พิจิตร นางอุไรวรรณ นันทนพิบูล อายุ 53 ปี แม่ค้าเขียงหมูชำแหละ กล่าวว่า
 
ขณะนี้ทุกร้านปรับราคาหมูเนื้อแดงขึ้นเป็นก.ก.ละ 160 บาท จากเดิมเพียงก.ก.ละ 120 บาท ส่วนสาเหตุที่ต้องปรับราคาขึ้นเนื่องจากหมูหน้าฟาร์มปรับขึ้นราคาถึงก.ก.ละ 81-82 บาท ซึ่งเกินจากราคาควบคุมของรัฐบาล ทำให้แม่ค้าต้องปรับราคาขึ้นตาม ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนหันไปซื้อเนื้อปลาและไก่มารับประทานแทน

ที่ จ.ยะลา บรรยากาศการซื้อหมูหน้าแผงที่ตลาดเทศบาลเมืองเบตง

แผงหมูบางร้านหยุดขายเนื่องจากราคาเนื้อหมูที่ขึ้นต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จากเดิมราคาก.ก.ละ 160 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็นก.ก.ละ 170-180 บาท ส่งผลต่อผู้ค้าแผงหมูและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก พ่อค้าขายหมูรายหนึ่งเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาราคาเนื้อหมูปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำเป็นต้องปรับราคาขายบนแผงหมูตาม ขณะนี้บางแผงทนรับภาระขาดทุนไม่ไหวจึงต้องปิดร้านเป็นการชั่วคราว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์