พบปลาจระเข้-จับได้ในแม่น้ำโขง

ตื่นพบปลาจระเข้ในแม่น้ำโขง ลูกจ้างร้านอาหารที่หนองคายไปวางเบ็ดในแม่น้ำรุ่ง

เช้าไปดูพบปลาขนาดใหญ่ ยาวเกือบ 1 เมตรมาติดเบ็ด เอามาให้เจ้าของร้านอาหาร ลักษณะปากแหลมเหมือนจระเข้ มีฟันเต็มปากและเขี้ยวแหลมคม ประมงจังหวัดชี้เป็นปลาจระเข้ แต่ไม่เคยพบในแม่น้ำโขง สง สัยมีคนเอามาเลี้ยงแล้วเลี้ยงไม่ไหวเลยเอามาปล่อย ระบุเป็นสัตว์อันตรายต่อสัตว์น้ำเพราะกินสัตว์น้ำเป็นเหยื่อและกัดไม่เลือก อาจทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำโขงได้

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ร้านอาหารครัวตาแขก บ้านท่าดอกคำ ต.เมืองหมี อ.เมือง จ.หนองคาย

หลังจากทราบว่าทางร้านดังกล่าวพบปลาจระเข้ ขนาดใหญ่ โดยจับได้จากแม่น้ำโขง เมื่อไปถึงพบนางชฎาพร โปตาเวชย์ อายุ 40 ปี เจ้าของร้าน กำลังโชว์ปลาจระเข้ให้ชาวบ้านดู ปลาตัวดังกล่าวมีขนาดยาว 90 ซ.ม. หนัก 5 ก.ก. ปากแหลมลักษณะคล้ายจระเข้ มีฟันหลายซี่และเขี้ยวแหลมคม เกล็ดแข็งสีเทาเป็นมันวาว ครีบหางเป็นลายจุดสีดำ

นางชฎาพร กล่าวว่า เมื่อกลางดึกวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา นายเพชร อายุ 21 ปี ลูกจ้างประจำร้านอาหารของตน

ได้นำเบ็ดตกปลาไปวางดักปลาในแม่น้ำโขงตลอดคืนโดยใช้ปลาหมึกเป็นเหยื่อล่อ จนถึงเช้าวันที่ 1 มิ.ย. นายเพชรได้ไปดูเบ็ด ก็พบปลาตัวนี้มากินเบ็ด จึงนำมาให้ ตอนแรกตนนึกว่าเป็นปลาสะทงยักษ์ ซึ่งชาวหนองคายตกได้บ่อยในแม่น้ำโขง และมีลักษณะคล้ายกัน แต่สังเกตแน่ชัดแล้วพบว่าไม่ใช่ปลาสะทง เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้ฟังต่างพากันมาดู ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นปลาชนิดนี้ในแม่น้ำโขง เพิ่งจะเห็นเป็นครั้งแรก สำหรับปลาตัวนี้จะไม่นำมาทำอาหาร แต่จะนำไปสตัฟฟ์ไว้เพื่อให้ชาวหนองคาย และลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านดู


นายจิรพงศ์ นุตะศะริน ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า

ปลาที่ชาวบ้านจับได้นี้ เรียกว่าปลาจระเข้ หรือ ปลาช่อนอะโรไพม่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า ATRCATRACTOSTEUS SPATULA ตระกูลเดียวกันกับปลาปิรันย่า แต่ไม่ใช่ปลาทำร้ายคน อาศัยอยู่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เจริญเติบโตได้ดีในแม่น้ำจืด อุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ลักษณะเด่นที่ปากคล้ายจระเข้มาก มีฟันแหลมคม ขากรรไกรทรงพลัง

นายจิรพงศ์ กล่าวว่า ปลาช่อนอะโรไพม่านี้กินเนื้อเป็นอาหาร

และจะกินคราวละมากๆ เพื่อยังชีพของตนเอง ตัวโตเต็มที่ยาวได้ถึงประมาณ 3 เมตร หนักมากถึง 130 ก.ก. นับเป็นปลาอันตรายต่อสัตว์น้ำเพราะกัดไม่เลือก แต่ไม่ทำร้ายคน ส่วนใหญ่ใช้เป็นปลาในเกมตกปลา อีกทั้งเป็นปลาที่ผู้พอมีรายได้ซื้อมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ สวยงาม เนื่องจากมีราคาแพง ราคาอยู่ที่หลักหมื่นบาท

ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวต่อไปว่า คาดว่าที่มาพบปลาชนิดนี้ในแม่น้ำโขง อาจเป็นเพราะเจ้าของที่เลี้ยงเป็นปลาตู้เลี้ยงไม่ไหว

จึงนำมาปล่อยในแม่น้ำโขง ไม่มั่นใจว่าปลาชนิดนี้มีการแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่อย่างไร แต่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในแม่น้ำโขง เนื่องจากปลาช่อนอะโรไพม่ากินเนื้อหรือกินปลาเป็นอาหาร อาจทำให้ปลาพื้นเมืองในแม่น้ำโขงถูกรบกวนและตกเป็นอาหารของปลาช่อนอะโรไพม่า จนลดปริมาณลง

"ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีปลาแม่น้ำโขงชนิดใดสูญพันธุ์ไปบ้าง ทราบเพียงว่ามีจำนวนลดน้อยลง สาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งการดูดทรายในแม่น้ำโขง ซึ่งกระทบกับแหล่งเพาะพันธุ์ปลาโดยตรง รวมทั้งสภาพการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขงเอง หรือแม้กระทั่งการพบปลาที่เป็นอันตราย ลักษณะปลาช่อนอะโรไพม่าเช่นนี้ ขอแจ้งไปถึงผู้ที่เลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วไม่สามารถเลี้ยงต่อไหว หรือไม่ต้องการ ให้นำมาให้เจ้าหน้าที่ประมงเพื่อจัดสรรแหล่งที่อยู่ให้เหมาะสม ไม่ควรนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะจะเป็นอันตรายและกระทบกับระบบนิเวศของปลาชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว" นายจิรพงศ์ กล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์