ฝึกร่วมผสมไทย-ญี่ปุ่น Freedom Sea 2008

ปฏิบัติการบุกยึดเรือสินค้าเรียกค่าไถ่ของกองเรือโจรสลัดชาวโซมาเลีย ที่ปากอ่าวเอเดน สร้างความหวาดหวั่นให้กับชาว โลกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในท้องทะเลแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะช่องแคบมะละกา อ่าวไทย ทะเล Celebes ทะเล Flores และทะเลจีนใต้ ซึ่งมีเรือพาณิชย์ใช้เป็นเส้นทางสัญจรกว่า 1 แสนลำต่อปี ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกปล้นสะดมและเรียกค่าไถ่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบัน ท้องทะเลในย่านดังกล่าวมีกลุ่มโจรสลัดหลายสัญชาติออกอาละวาดดักปล้นเรืออยู่อย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายปีหนึ่งเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. จึงมอบหมายให้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.ก. พล.ต.ต.มิสกวัน บัวรา ผบก.รน. จัดกำลังพล ร่วมกับ กองรักษาฝั่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Coast Guard หรือ JCG) กองทัพเรือไทย (ทร.)และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (ขน.) เข้าฝึกร่วมผสมทางทะเล ไทย-ญี่ปุ่น รหัส “Freedom Sea 2008” ในวันที่ 24-26 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ บริเวณทะเล ตั้งแต่ท่าเรือแหลมฉบัง-อ่าวเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้เพื่อเป็นการซักซ้อมเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือลูกเรือที่ประสบภัยจากโจรสลัดและเรือที่ประสบภัยทางทะเลในทุกรูปแบบ ซึ่งมีขอบข่ายการฝึกภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การตรวจค้นเรือต้องสงสัย การจู่โจมช่วยเหลือตัวประกัน การปฏิบัติการใต้น้ำ การค้นหากู้ภัยทางทะเล นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการฝึกยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านกฎหมายทางทะเลซึ่งมีผลกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ทางทะเล ซึ่งเป็นพันธกิจของทุกประเทศที่มีต่อองค์การสหประชาชาติ

สำหรับยุทโธปกรณ์ในการฝึกของ บก.รน. ประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ลพบุรีราเมศวร์ 1803 เรือตรวจการณ์ ขนาด 60 ฟุต รหัส 626 และ 634 เรือเร็วตรวจการณ์ขนาด 30 ฟุต รหัส 66 และ 70 JCG ประกอบด้วย เรือ SHIKISHIMA ( PLH31) 9000 ตัน เฮลิคอปเตอร์แบบ SUPPER PUMA 1 ลำ ขน. ประกอบด้วยเรือลาดตระเวนขนาด 80 ฟุต นาม เจ้าท่า 803 และเจ้าท่า 804 ส่วน ทร.ส่งเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.992 ขนาด 250 ฟุต เข้าร่วมฝึก ซึ่งทุกหน่วยมีกำลังพล ลูกเรือ และชุดปฏิบัติการใต้น้ำ

รวมกว่า 300 นาย พร้อมอาวุธประจำกายและอุปกรณ์กู้ภัยทางทะเลที่รองรับได้กับทุกสถานการณ์ โดยการฝึกครั้งนี้ใช้ข่ายการติดต่อสื่อสาร MARINE BAND ที่ใช้กันอยู่ในเรือและ อากาศยานของแต่ละฝ่ายเป็นหลัก และ กำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษตลอดห้วง เวลาการฝึก

พล.ต.ท.วรพงษ์ กล่าวว่า นโยบายความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลกำหนดให้ บก.รน.ร่วมกับหน่วยงานอื่นจัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าฝึกร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาได้ร่วมการฝึกผสมทางทะเลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกรูปมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งแรกปี 44 ใช้รหัส “FREE DOM SEA” มี บก.รน.,ขน. และ JCG ร่วมการฝึกที่อ่าวพัทยา จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 2 ปี 47 ใช้สถานที่เดียวกันกับครั้งแรก ครั้งที่ 3 ปี 50 บก.รน., ขน., JCG และ ตำรวจน้ำมาเลเซีย จัดการฝึกผสมตามแนวชายแดนทางทะเล จ.สตูล และเกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนครั้งล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นการฝึกไปนั้น ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นเดียวกับทุกครั้ง

โดยผลที่ได้รับนั้นนอกจากผู้ปฏิบัติจะได้เรียนรู้ ต่อยอดยุทธวิธีและเพิ่มพูนศักยภาพให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว การฝึก “Freedom Sea 2008” ยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเรือที่สัญจรอยู่ในท้องทะเล และส่งผลไปถึงรายได้มวลรวมของประเทศไทยอีกด้วย.
 

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์